ทอท.อัพเดตแผนลงทุน 6 ปี 1 แสนล้านรับ “ท่องเที่ยว” เติบโต

ทอท.

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT ผู้บริหารท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) ภูเก็ต (ทภก.) และหาดใหญ่ (สงขลา) ระบุว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

โดยมีจำนวนเที่ยวบินรวม 639,891 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.22 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 321,053 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 318,838 เที่ยวบิน

และมีผู้โดยสารรวม 100.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.31 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 53.91 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.15 ล้านคน

โดยปัจจุบันผู้โดยสารภายในประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว หรือคิดเป็น 95% ของปี 2562 ส่วนผู้โดยสารต่างประเทศกลับมาได้ราว 70-75%

ปี’67 ผู้โดยสารฟื้นเท่าปี’62

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-กันยายน 2567) จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 120-130 ล้านคน ซึ่งจะเป็นการฟื้นกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด

สอดรับสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association) หรือ IATA ที่คาดการณ์ว่าในปี 2567 ปริมาณผู้โดยสารทั้งระหว่างประเทศและในประเทศของไทยจะฟื้นกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562

“ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและภาคการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องนี้

ทอท.ในฐานะผู้ให้บริการหลักของประเทศตระหนักและให้ความสำคัญต่อสายการบินและผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งในความรับผิดชอบ โดยได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้เพิ่มศักยภาพการรองรับของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ

6 ปีลงทุน 1 แสนล้าน

โดยมีนโยบายเร่งด่วนภายใน 1 ปี ให้ดำเนินการเพิ่มตารางการบิน (slot) รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้น และการบริหารจัดการพื้นที่ภายในท่าอากาศยานเป็นสิ่งสำคัญ และต้องมีความพร้อมในทุกด้านของการให้บริการ เพื่อให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการได้รับการบริการที่รวดเร็ว และการเดินทางที่สะดวกสบาย ไม่เกิดปัญหาความแออัด

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ทอท.ได้กำหนดแผนลงทุนระยะ 6 ปี (2567-2572) และผ่านการพิจารณาของบอร์ดบริหารไปเรียบร้อยแล้ว รวมมูลค่าลงทุนในช่วง 6 ปีดังกล่าวประมาณ 1 แสนล้านบาท ได้แก่ ปี 2567 ลงทุน 10,000 ล้านบาท ปี 2568 ลงทุน 20,000 ล้านบาท ปี 2569 ลงทุน 24,000 ล้านบาท ปี 2570 ลงทุน 18,000 ล้านบาท ปี 2571 ลงทุน 12,000 ล้านบาท และปี 2572 ลงทุน 12,000 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

ทอท.

“สุวรรณภูมิ” รับ 80 ล้านคน

โดยมีโครงการขนาดใหญ่ คือ 1.โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 9,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (runway) เส้นที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทางวิ่งให้รองรับเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2567

ซึ่งหลังจากสิ้นสุดแผนพัฒนา จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ถึง 80 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2570

“ส่วนที่พัฒนาเสร็จไปแล้ว คือ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งเปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2566 ทำให้สุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี”

เพิ่ม “คาพาซิตี้” ทุกสนามบิน

2.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะ 3 มูลค่า 36,000 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573

3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 มูลค่า 8,000 ล้านบาท โดยมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี

ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2571

4.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 มูลค่า 8,300 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบเพื่อดำเนินการออกแบบในปี 2567 โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572

และ 5.ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปี

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบ (ยังไม่ได้กำหนดงบประมาณ) เพื่อดำเนินการออกแบบในปี 2567 โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572

ส่วนท่าอากาศยานหาดใหญ่ สงขลา ปัจจุบันได้ทำการทบทวนแผนแม่บทให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรทางอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

พร้อมบริหาร 3 สนามบิน ทย.

สำหรับแผนการให้ ทอท. เข้าไปบริหารท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่นั้น “ดร.กีรติ” บอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนงานที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565

โดยประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ การขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะของทั้ง 3 สนามบิน จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน

“เมื่อเราดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามแผนแล้ว จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอีกครั้ง ก่อนที่ ทอท.จะเข้าไปบริหาร ซึ่งตามแผนเดิมคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้”

โดยในส่วนของ ทอท.ได้เตรียมงบฯลงทุนจำนวนหนึ่งไว้รองรับแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนต่อไป

จ่อลงทุน “อันดามัน-ล้านนา”

ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.บอกว่า มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1 แสนล้านบาทนี้ เป็นโครงการพัฒนาและขยายท่าอากาศยานทั้งหมดของ AOT โดยส่วนใหญ่จะเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปี 2571-2572

และย้ำว่า งบฯลงทุน 1 แสนล้านบาทนี้ยังไม่รวมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอันดามัน (ภูเก็ต แห่งที่ 2) และท่าอากาศยานล้านนา (เชียงใหม่ แห่งที่ 2) ตามนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดยหากทั้ง 2 โครงการนี้มีผลการศึกษาว่าคุ้มกับการลงทุน ทอท.ก็มีกระแสเงินสดเพียงพอกับการลงทุนเช่นกัน