เทรนด์ “ท่องเที่ยว-ไมซ์” เปลี่ยน TICA แนะโรงแรมปรับตัวรับมือ

TICA

ท่องเที่ยวทั่วโลกแข่งขันแรง ททท.เชียงใหม่ชี้แนวโน้มผู้บริโภคขยับสู่ยุคสมัยแห่งความหวัง ตอบโจทย์ความยั่งยืน มองหาประสบการณ์ที่ดีต่อใจ TICA ชี้พฤติกรรมนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป แนะโรงแรมปรับตัวรับมือ ด้าน “ทีเส็บ” เดินหน้าดันไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว-งานไมซ์โลก

นางสาวภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ความท้าทายของภาคการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันคือ การสร้างความสมดุลของตลาดนักท่องเที่ยว เนื่องจากตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลกมีการแข่งขันกันรุนแรง และในอดีตไทยพึ่งพาตลาดการท่องเที่ยวต่างชาติประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศก็ต้องทำตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าระหว่างกัน เที่ยวบินระหว่างประเทศ และเที่ยวบินข้ามภาคในประเทศยังมีไม่มากนัก ทำให้พฤติกรรมของนักเดินทางชาวไทยที่ส่วนใหญ่เน้นเดินทางในภูมิภาคตัวเองเป็นหลัก

ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่
ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่

อย่างไรก็ตามประเมินว่า แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคของปีนี้จะเป็นไปในธีม “ยุคสมัยแห่งความหวัง” หรือ The Age of Hope โดยจำแนกออกเป็น 4 ประเด็น คือ 1.ผู้บริโภคยังโอบรับเทคโนโลยี แต่ขอใช้ในปริมาณที่เหมาะสม (Digital Minimalism) 2.ผู้บริโภคต้องการนำเสนอมุมมองของตน เรื่องที่ตัวเองอยากเล่า (Reclaim the Narrative) 3.ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ สร้างสังคมแห่งความอ่อนโยน (Good Deed Economy)

และ 4.ผู้บริโภคมองหาประสบการณ์ที่ดีต่อใจ (Awescapes) ประสบการณ์ที่ทำให้ตนเองปลาบปลื้ม หรือ “ใจฟู” ในมุมการท่องเที่ยว เช่น การออกเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และประเด็นสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญ คือ ประเด็นด้านความยั่งยืน

นางสาวประภาพรรณ สังข์เมือง ผู้จัดการทั่วไปสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ TICA กล่าวว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไมซ์แตกต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาร่วมการจัดงานมากขึ้น เช่น การประชุมบางประเภทอาจใช้การประชุมทางวิดีโอมาจากต่างจังหวัด ทำให้โรงแรมต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับเทรนด์ดังกล่าว มีทางเลือกให้กับลูกค้า

“ลูกค้ามองหาประสบการณ์ที่ดึงดูดและสร้างความประทับใจ โดยมีส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้น ดังนั้น พนักงานที่เกี่ยวข้องควรมีความรู้ด้านการท่องเที่ยวชุมชน หรือ Community-based Tourism : CBT ร่วมด้วย เพื่อสามารถสร้างจุดขายให้กับลูกค้า เนื่องจากลูกค้าไม่ได้อยากอยู่แค่โรงแรมเพียงอย่างเดียว” นางสาวประภาพรรณกล่าว

ด้าน นางสาวกนกพร ดำรงกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดไมซ์ในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (TCEB) กล่าวว่า แนวทางในปี 2567 นี้ ทีเส็บต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและงานที่เกี่ยวข้องกับไมซ์ของโลก ผ่านการยกระดับทั้งอุตสาหกรรม ลดความสำคัญในมิติด้านจำนวน นำเสนอเมือง-วัฒนธรรม สร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์

ส่วนแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นหรือส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ในปี 2567 เช่น การท่องเที่ยวภายในประเทศที่นำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่น, การออกเดินทางตามแนวคิดการรักษ์โลก, ผู้ประกอบการธุรกิจไมซ์ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนทักษะ (Upskill) และการพัฒนาทักษะแก่พนักงานของตน, การนำเสนอเสน่ห์ของชุมชน และการใช้ข้อมูล Big Data ในการวางแผนและพัฒนา

นางสาวกนกพรกล่าวว่า จากสถิติภาพรวมของตลาดไมซ์ในประเทศ (Domestic MICE) พบว่า นักเดินทางไมซ์สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยสูงถึงประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นผลกระทบจากนักเดินทางประเภทประชุมและท่องเที่ยวเป็นรางวัล หรือ (Meeting and Incentives) ซึ่งมีจำนวน 527,282 คน ที่ประมาณ 3.37 พันล้านบาท, การจัดประชุมระดับนานาชาติ (Conventions) ประมาณ 7.06 พันล้านบาท และการจัดแสดงสินค้า (Exhibitions) ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานกลยุทธ์ตลาดในประเทศ ททท. เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ระบุว่า ในปี 2566 มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 164.33 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2565 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,227 บาทต่อคนต่อทริป เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2565 สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่ 794,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปี 2565

ขณะที่ในปี 2567 ททท.ตั้งเป้าหมายในกรณีปกติ (Base Case Scenario) มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยออกเดินทาง 182 ล้านคน-ครั้ง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่ 3,950 บาทต่อคนต่อทริป สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่ 990,000 ล้านบาท