ท่องเที่ยวปรับฐานสู่คุณภาพ ตลาด Long-haul รายได้พุ่ง

airport

ท่องเที่ยวไทยขยับฐานสู่ตลาดคุณภาพ ชี้หลังโควิดสัดส่วนตลาด Long-haul โตชัดทั้งสัดส่วนจำนวน-รายได้ ตั้งเป้าปี’67 มาร์เก็ตแชร์นักท่องเที่ยวตลาด Long-haul พุ่งกว่า 30% เพิ่มจากปี’62 ที่มี 23% มีสัดส่วนรายได้แตะ 40% เร่งบุกเจาะตลาด “มิดเดิลอีสต์-แอฟริกา” อุดช่วงโลว์ซีซั่น พร้อมเดินกลยุทธ์ Airline Focus กระตุ้นสายการบินเพิ่มไฟลต์ เผยเดือนตุลาคมนี้บิ๊กสายการบินจ่อเพิ่มเส้นทางบินเข้ามาอีกเพียบ

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปี 2567 นี้เป็นปีที่การท่องเที่ยวได้ขยับสู่ตลาดท่องเที่ยวคุณภาพอย่างชัดเจน โดยตลาดระยะไกล (Long-haul Market) หรือใช้เวลาบินเกิน 6 ชั่งโมง มีแนวโน้มเติบโตดีอย่างชัดเจน โดย ททท.ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลปีนี้จำนวน 10.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 30.8% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด 35.05 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ที่มีจำนวน 9.01 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 23% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด 39.9 ล้านคน

โดยมีรายได้รวม 7.69 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่ 40% ของรายได้รวม 1.92 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ที่มีรายได้ 6.24 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 33% ของรายได้รวม 1.91 ล้านล้านบาท

ตลาดขยับฐานสู่กลุ่มคุณภาพ

นายศิริปกรณ์กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ ตลาดระยะไกลจะมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ สะท้อนชัดเจนว่าโครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไป โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นพีกซีซั่นของตลาดต่างชาติ พบว่าตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลมีส่วนแบ่งตลาดถึง 33%

สำหรับปี 2568 ททท.ได้ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวระยะไกลจำนวน 10.62 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 27% มีรายได้รวม 8.69 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39% ซึ่งจะสะท้อนเทรนด์ใหม่อย่างชัดเจนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง แต่รายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ แนวโน้มนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลมีจำนวนวันพำนัก และใช้จ่ายมากขึ้น

“มิดเดิลอีสต์-แอฟริกา” รับมือ

นายศิริปกรณ์กล่าวว่า เพื่อให้ตลาดระยะไกลเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ททท.จะเร่งทำตลาดกับประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง (Middle East) อาทิ อิสราเอล คูเวต กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ และประเทศในกลุ่มแอฟริกา เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกพบว่า กลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกา เป็น 2 ตลาดที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงดังกล่าวนี้

“ข้อมูลจากโครงการสำรวจเพื่อการวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่าตลาดมิดเดิลอีสต์และแอฟริกาจะสวนทางกลับตลาดอื่น ๆ คือ นิยมเดินทางมาในช่วงที่เป็นโลว์ซีซั่นของตลาดอื่น ๆ จึงไม่เห็นภาพการตกท้องช้างในช่วงโลว์ซีซั่น และยังเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความชื่นชอบฝน ความเขียวชอุ่ม ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพที่บ้านเมืองเขาไม่มี” นายศิริปกรณ์กล่าว

หวนเจาะกลุ่มเดินทางครั้งแรก

นายศิริปกรณ์กล่าวด้วยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ททท.ทำการตลาดโดยใช้กลยุทธ์ “ABCD” ได้แก่ A : Airline Focus, B : Big Cities & Beyond, C : Collaboration is Key และ D : Destination for All เพื่อฟื้นฟูตลาดจากการระบาดของโควิด-19 ในปี 2567 นี้ จะเดินหน้าต่อด้วยกลยุทธ์ “EFG” ประกอบด้วย E : Ecosystem Sustainability สร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืนแก่ภาคท่องเที่ยวไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวยุโรปที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

F : Fantastic Four โดยแต่ละตลาดจะเน้นรุกไม่ต่ำกว่า 4 เซ็กเมนต์ เช่น กลุ่มมิลเลนเนียล กลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มลักเซอรี่ กลุ่มครอบครัว กลุ่มดิจิทัลนอแมด กลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ฯลฯ และ G : Go Beyond a Million กำหนดให้แต่ละกลุ่มสำนักงานของ ททท. ในพื้นที่ตลาดระยะไกล ช่วยกันดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยให้ได้เกิน 1 ล้านคน

นอกจากนี้ ในปี 2567 นี้จะมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางครั้งแรก (First Visit) ให้มากขึ้น หลังจากที่ 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงเปิดประเทศ ททท.เน้นทำการตลาดในกลุ่มเดินทางซ้ำ (Revisit) เป็นหลัก ทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางครั้งแรกลดลง โดยประเทศเป้าหมายในการทำการตลาดเพื่อดึงกลุ่มเดินทางครั้งแรกคือ ไอซ์แลนด์ คาซัคสถาน อิตาลี สเปน ตุรกี เป็นต้น

ตุลาฯนี้มีไฟลต์บินเข้าอีกเพียบ

นายศิริปกรณ์กล่าวต่อไปอีกว่า แผนกลยุทธ์หลัก หรือ Strategic Move สำคัญอีกประเด็นหนึ่งของปี 2567 นี้คือ การมุ่งทำงานร่วมกับสายการบิน หรือที่เรียกว่า Airline Focus โดยตารางปัจจุบัน (Summer Slot) ช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม 2567 มีจำนวนเที่ยวบินจากตลาดระยะไกลรวมทั้งสิ้น 34,133 เที่ยวบิน รวม 10,525,923 ที่นั่ง

ในจำนวนนี้มีเที่ยวบินจากภูมิภาคตะวันออกกลางมากที่สุดที่ 18,487 เที่ยวบิน รวม 6,210,924 ที่นั่ง รองลงมาคือ ภูมิภาคยุโรป 14,896 เที่ยวบิน รวม 4,108,613 ที่นั่ง

นอกจากนี้ยังมีที่นั่งของสายการบินที่ให้บริการในรูปแบบเช่าเหมาลำ (Charter Airline) อีกประมาณ 216,448 ที่นั่ง อาทิ สายการบิน TUI เส้นทางลอนดอน/แมนเชสเตอร์-ภูเก็ต ประมาณ 11,904 ที่นั่ง สายการบิน Edelweiss เส้นทางสวิตเซอร์แลนด์-ภูเก็ต ประมาณ 16,800 ที่นั่ง สายการบิน Azur Air/Pegas Fly จากรัสเซียเข้าภูเก็ตและอู่ตะเภา ประมาณ 28,357 ที่นั่ง เป็นต้น

และในตารางบินฤดูหนาว (Winter Slot) ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2567-มีนาคม 2568 มีสายการบินเตรียมเปิดให้บริการเส้นทางบินเข้าประเทศไทยเพิ่มเติมอีกหลายสายการบิน อาทิ Condor Airline เปิดเส้นทางบินแฟรงก์เฟิร์ต-กรุงเทพฯ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทางบินแฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (เริ่มกันยายน) British Airways มีแผนเปิดเส้นทางบินลอนดอน แกตวิก-กรุงเทพฯ จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 3,984 ที่นั่งต่อเดือน (เริ่มตุลาคม)

สายการบินแอร์เอเชีย มีแผนให้บริการ 4 เส้นทางในยุโรปปลายปีนี้ และมีแผนเปิดให้บริการเส้นทางบินอัลมาตี-กรุงเทพฯ ในต้นปี 2568 สายการบิน Iberojet (สเปน) มีแผนเปิดเส้นทางบินมาดริด-กรุงเทพฯ (เริ่มพฤษภาคม) นอกจากนี้ยังมีสายการบิน Sunday ของคาซัคสถาน เปิดเส้นทางบินอัลมาตี-สุราษฎร์ธานี (เริ่มพฤษภาคม) เป็นต้น