Travel Tech…โอกาสของ startup ไทย

บทวิเคราะห์จาก EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

 

Travel tech startup เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก และการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือถูกซื้อกิจการ (M&A)

โดย travel tech startup แบ่งได้เป็น 5 ประเภทตามรูปแบบการให้บริการ คือ 1) บริการค้นหาแหล่งท่องเที่ยว และช่วยวางแผนในการท่องเที่ยว 2) บริการค้นหาและจองตั๋วเครื่องบินและที่พัก 3) บริการจองตั๋วทำกิจกรรม เช่น สวนสนุก กิจกรรมการแสดง และการเดินทางที่ไม่ใช่เครื่องบิน 4) บริการโซเชียลเน็ตเวิร์กด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ และ 5) บริการด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ โดยที่ผ่านมา สตาร์ทอัพกลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสะท้อนจากมูลค่าเงินลงทุนที่ได้รับจากนักลงทุนทั่วโลก โดยข้อมูลจาก CB Insight พบว่าในช่วงปี 2013-2017 เงินลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นราว 53% ต่อปี จาก 709 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 3,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รูปที่ 1) นอกจากนี้ การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือถูกซื้อกิจการ (M&A) ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จาก 11 ดีล ในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 20 ดีล ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2017 (รูปที่ 2)

ปัจจัยสนับสนุนหลักของการเติบโตของ travel tech startup มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวแบบ FIT และการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม travel tech startup ในไทยยังมีจำนวนไม่มากนัก

Advertisment

UNWTO คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจาก 1.2 พันล้านคนในปี 2016 เป็น 1.8 พันล้านคนในปี 2030 ซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวด้วยตนเอง (FIT) ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยวพบว่าสัดส่วนของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจาก 56% ในปี 2006 เป็น 82% ในปี 2016 และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือมักใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์และใช้แอปพลิเคชันเพื่อท่องเที่ยวสูงขึ้น นอกจากนี้ eMarketeer คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 564.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016 เป็น 817.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 (รูปที่ 3) เติบโตราว 11% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก CB Insight พบว่า ปัจจุบันไทยมีบริษัทที่เป็น travel tech startup เพียง 6 ราย จากจำนวน tech startup ทั้งหมด 601 ราย โดยเกือบทั้งหมดเป็น Online Travel Agency (OTA) แต่หากพิจารณาในระดับโลกแล้ว travel tech startup ของไทยมีสัดส่วนเพียง 0.3% จากจำนวนของทั่วโลกที่มีอยู่ราว 2,039 ราย สะท้อนถึงการแข่งขันในตลาดที่ยังไม่รุนแรงมากนัก

แม้ travel tech startup ของไทยยังมีลู่ทางการเติบโต แต่การเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าแบบ mass tourism อาจสร้างผลตอบแทนที่น้อยกว่าลูกค้าแบบ luxury travel ที่ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เหนือกว่า

luxury travel เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่น่าจับตามองด้วยมูลค่าการเติบโตและค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงกว่า mass tourism รวมถึงแนวโน้มความนิยมใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์ที่เติบโตสูงกว่าการซื้อสินค้าหรูหราเกือบ 2 เท่า (รูปที่ 4) ซึ่งจากข้อมูลของ Allied Market research พบว่ามูลค่าตลาดท่องเที่ยวแบบหรูหรา (luxury travel) ทั่วโลกในปี 2016 มีมูลค่าราว 795 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะสูงถึง 1,154 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่ที่ 35,000 บาท สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 7 เท่าที่ใช้จ่ายเฉลี่ย 5,240 บาทต่อวัน นอกจากนี้ ข้อมูลของ Amadeus คาดการณ์ว่าการเติบโตของจำนวนทริปท่องเที่ยวแบบหรูหราอยู่ที่ราว 6.2% ซึ่งสูงกว่าจำนวนทริปท่องเที่ยวโดยรวมที่เติบโตราว 4.8% (ปี 2015-2025) โดยการท่องเที่ยวแบบหรูหราเติบโตจากการให้คุณค่าและประสบการณ์สุดพิเศษแก่นักท่องเที่ยว

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกาเป็นตลาดหลักของ luxury travel ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดียจะเป็นกลุ่มที่เติบโตสูงและน่าจับตามอง

Advertisment

ปัจจุบันการขยายตัวของชนชั้นกลางทั่วโลกที่มีระดับรายได้สูงขึ้นซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวมากขึ้นและยินดีจ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบหรูหราเพื่อให้รางวัลตัวเองในโอกาสพิเศษ จึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ทำให้ luxury travel เติบโตนอกเหนือจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลงใหลการท่องเที่ยวแบบหรูหราเป็นนิจ (always luxury traveler) และนักท่องเที่ยวกลุ่ม bluxury ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่ชอบท่องเที่ยวแบบหรูหรา ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Amadeus พบว่าตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกายังเป็นตลาดหลักของ luxury travel ซึ่งมีสัดส่วนราว 64% อย่างไรก็ดี หากพิจารณากลุ่มประเทศ Big four หรือ BRICs คาดว่าอินเดียจะมีการเติบโตของจำนวนทริปแบบหรูหราที่สูงที่สุดที่ 12.8% ตามมาด้วยจีนที่ 12.2% (ปี 2015-2025)

อีไอซีแนะ travel tech startup ไทยนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นประสบการณ์ที่เหนือกว่า

โดยบริษัทที่เสนอ luxury travel ในไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้เล่นจากต่างประเทศ เช่น Butterflied and Robinson จากแคนาดาซึ่งให้บริการจัดทริปในเชียงใหม่ และเชียงราย โดยเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์แบบไร้การปรุงแต่ง (authentic) ในรูปแบบล้านนา หรือการออกแบบ wellness tourismของ Pure Lux Travel จากออสเตรเลีย ที่จัดโปรแกรม detox ที่ผสมผสานหลักอายุรเวทท้องถิ่นของไทย ในขณะที่ luxury travel tech ที่ประสบความสำเร็จคือ Secret Escapes ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTA ของอังกฤษที่ขายทริปเฉพาะบุคคล (bespoke holiday) ที่ออกแบบโดยนักออกแบบทริปมืออาชีพ รวมถึงเสนอบริการจองห้องพักโรงแรมหรูในราคาพิเศษ ซึ่งได้รับเงินลงทุนแล้วกว่า 191 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่า travel tech startup ไทยควรสร้างธุรกิจที่เน้นการออกแบบกิจกรรมเพื่อตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย การเลือกสรรโรงแรมที่มีคุณภาพบริการสูง และมีความสวยงามที่สะท้อนเสน่ห์ท้องถิ่น ควบคู่กับการเสนอกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การนั่งรถไฟ Eastern and Oriental Express ที่ติดอันดับขบวนรถไฟที่ดีที่สุดในโลก 25 อันดับแรก การนั่งเรือยอร์ช หรือล่องเรือ (cruise) ในฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย รวมถึงการนำเสนออาหารไทยในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์