บินไทย-แอร์บัส เร่งอู่ตะเภา “ศูนย์ซ่อมบำรุง” NO.1 ของโลก

การบินไทย

เป็นข่าวดีส่งท้ายปีของเมืองไทยอีกเรื่อง เมื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัส เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ทั้ง 2 บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อประเมินความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงฯไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา

เร่งให้เกิด “การร่วมทุน”

บรรยากาศบนเวทีที่สำนักงานใหญ่ของการบินไทยเป็นไปอย่างชื่นมื่น โดย “สมคิด” รองนายกฯ ได้หันไปจับมือและกล่าวกับ “ฌอง ฟรองซัวร์ ลาวาล” รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกิจการลูกค้าประจำภูมิภาคเอเชียของแอร์บัส ว่า หลังจากการลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจ อยากเห็นภาพการเซ็นสัญญา “การร่วมทุน” ระหว่างการบินไทยและแอร์บัสให้เร็วที่สุด ขอให้ทางแอร์บัสอย่าได้กังวล ให้รีบทำโดยเร็วได้เลย เพราะไม่อยากให้เกิดความล่าช้า

โดยบอกว่า อยากเห็นการบินไทยและแอร์บัสเซ็นสัญญาร่วมทุนกันเร็วที่สุด หรือภายในไตรมาส 1 ปี 2561 นี้ เพื่อให้ทันกำหนดการเยือนประเทศฝรั่งเศสของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงต้นปีหน้า หลังจากสหภาพยุโรปได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) แบบครบวงจร ไม่แพ้ชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้

“แอร์บัส” รับไทยมีศักยภาพสูง

ขณะที่ “ฌอง ฟรองซัวร์ ลาวาล” รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกิจการลูกค้าประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท แอร์บัส กล่าวว่า นอกเหนือจากความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัทแล้ว แอร์บัสยังเห็นถึงพัฒนาการเชิงยุทธศาสตร์ของไทย ที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการบิน และรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จะช่วยมอบโอกาสที่ดีทางธุรกิจให้กับบริษัทพันธมิตรและซัพพลายเออร์ทางด้านการบินได้หลายบริษัท

“หลายเดือนที่ผ่านมาคณะทำงานของแอร์บัสและการบินไทยได้ประเมินศูนย์บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยที่มีความพร้อมในเรื่องทำเลด้านภูมิศาสตร์ควบคู่ไปกับแรงงานที่มีฝีมือ และศักยภาพทางด้านการตลาดที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ในอนาคต”

ตลาดซ่อมบำรุงโตตามฝูงบิน

จากการคาดการณ์ฝูงบินที่ให้บริการในเอเชียและแปซิฟิกจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นกว่า 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จากจำนวนราว 6,100 ลำ เป็นกว่า 17,000 ลำ ซึ่งแอร์บัสคาดว่ามูลค่าของภาคส่วนการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าราว 6.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า

ท่าอากาศยานอู่ตะเภาจึงต้องสามารถรองรับอากาศยานได้ทุกขนาด และยังมีโรงงานซ่อมบำรุงแบบครบครันที่ดำเนินการโดยการบินไทยอยู่แล้ว โดยมีแรงงานฝีมือที่ชำนาญการ และในช่วงปี 2561 ทางการบินไทยจะเริ่มบำรุงรักษาเครื่องบินแอร์บัส A380 โดยการดูแลของทีมแอร์บัสที่อยู่ในท่าอากาศยานอู่ตะเภา และในอีก 10 ปีข้างหน้าก็จะมีการสร้างโรงเก็บเครื่องบินแห่งใหม่ และในที่สุดท่าอากาศยานอู่ตะเภาก็จะกลายเป็นสนามบินที่มี 2 รันเวย์

นอกเหนือไปจากศูนย์ MRO ที่รองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินลำตัวกว้างทุกประเภทแล้ว สถาบันด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการบินพลเรือน การบินไทย และแอร์บัส ก็จะถูกสร้างขึ้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีมายังภูมิภาคนี้ ซึ่งแอร์บัสยังได้วางแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ซ่อมวัสดุคอมโพสิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการบินและอวกาศในแนวตั้งของประเทศไทย

และในแผนงาน EEC ก็จะเห็นโรงเก็บเครื่องบินแห่งอนาคต ที่แสดงให้เห็นว่าการบำรุงรักษาเครื่องบินจะมีวิวัฒนาการอย่างไรในระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูง ด้วยเทคโนโลยีความจริงเสริม (AR หรือ Augmented Reality) แบบเสมือนจริง (VR หรือ Virtual Reality) และการทำให้เป็นระบบดิจิทัลฝันขึ้น MRO เบอร์ 1 ของโลก

ด้าน “เรืออากาศโทรณชัย วงศ์ชะอุ่ม” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวเสริมว่า ต้องการให้ศูนย์ MRO แห่งใหม่นี้ เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอันดับ 1 ของโลกที่มีความล้ำสมัย พร้อมรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงของอากาศยานรุ่นใหม่ทุกรุ่นทุกขนาดในอีก 20 ปีข้างหน้า

และพร้อมให้บริการซ่อมบำรุงอย่างตรงต่อเวลาที่สุด ด้วยต้นทุนและราคาที่เหมาะสม เปี่ยมด้วยคุณภาพและความปลอดภัย ที่จะให้บริการตั้งแต่การซ่อมบำรุงระดับลานจอดไปถึงการซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับอากาศยานในหลากหลายประเภท โดยจะนำเทคโนโลยีล่าสุดและการตรวจสอบขั้นสูง มาใช้ในการวิเคราะห์และพยากรณ์เพื่อกำหนดแผนการบำรุงรักษาอากาศยานล่วงหน้า

นอกจากนี้ ยังมีโรงซ่อมบำรุงอัจฉริยะ (Smart Hangar) ที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงที่ผลิตช่างฝีมือ และนายช่างอากาศยาน ตามมาตรฐานระดับสากล รองรับการขยายตัวของธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคต โดยทั้งการบินไทยและแอร์บัสหวังให้อู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางในระดับ “World Class MRO” อันดับ 1 ของโลกคาดใช้งบฯลงทุน 1.1 หมื่นล้าน

สำหรับข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนที่มีกรอบความเป็นไปได้นั้น คาดว่ามูลค่างบฯลงทุนรวมของทั้ง 7 ส่วนในโครงการศูนย์ซ่อม อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ) แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 7,000 ล้านบาท ให้กองทัพเรือซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นคนลงทุนสิ่งปลูกสร้างและงานโยธา

และส่วนที่สอง 4,000 ล้านบาท การบินไทยและแอร์บัสจะร่วมทุนกันฝ่ายละ 50% หรือ 2,000 ล้านบาท มีเป้าหมายแรกคือ การจัดตั้งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวใช้เวลาคืนทุน 11 ปี มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 13%

โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2562 และใช้เวลา 2 ปีในการพัฒนา สามารถเปิดให้บริการได้ทันในปี 2564 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นเร็วที่สุด…