TTAA กระตุ้น “ไทยเที่ยวนอก” ขนทัพ 90 เอเย่นต์ทัวร์บูม “มาเลเซีย”

การท่องเที่ยวมาเลเซียระบุว่าหลังจากที่รัฐบาล โดย “อิสมาอิล ซาบรี ยักกบ” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสไม่ต้องกักตัวตั้งแต่ 1 เม.ย. 2565 ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเลเซียยังต้องลงทะเบียนในแอปพลิเคชั่น “My Sejahtera” ก่อนเดินทาง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับระบบ Thailand Pass ของไทยที่ได้ยกประกาศยกเลิกไปแล้ว

นำ 90 เอเย่นต์ทัวร์บูม “มาเลย์”

ด้วยความพร้อมในการเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของมาเลเซียบวกกับความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทยที่เพิ่มขึ้น “สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว” หรือ TTAA ในฐานะสมาคมทัวร์เอาต์บาวนด์ หรือตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศ จึงได้จัดกิจกรรม TTAA FAM TRIP MALAYSIA ขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 กรกฎาคม 2565 ให้กับสมาชิก

ซึ่งนับเป็นการจัดทริปศึกษาดูงานครั้งแรกตั้งแต่ทั่วโลกถูกล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“เจริญ วังอนานนท์” นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ให้ข้อมูลว่า กิจกรรมดังกล่าวสมาคมได้พาบริษัทนำเที่ยว (เอเย่นต์ทัวร์) ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคม จำนวน 90 บริษัท พร้อมผู้ติดตาม และสื่อมวลชน รวมกว่า 100 คนเดินทางไปสำรวจสินค้า บริการ รวมถึงความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของมาเลเซีย

ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานที่ช่วยให้สมาชิกได้อัพเดตรูปแบบการเดินทางหลังวิกฤตโควิด และเตรียมความพร้อมสำหรับกลับมาให้บริการคนไทยที่มีแผนออกท่องเที่ยวต่างประเทศอีกครั้ง

เจริญ วังอนานนท์

แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว

อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและ แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ และกระตุ้นตลาดเอาต์บาวนด์ (นักท่องเที่ยวขาออก) ของประเทศไทย และเพิ่มตลาดอินบาวนด์ให้กับประเทศคู่ค้าด้วย

โดย “มาเลเซีย” ถือเป็นตลาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวคนไทย ขณะที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียเองก็นิยมท่องเที่ยวประเทศไทยเช่นกัน

โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งสายการบินและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในมาเลเซีย อาทิ การบินมาเลเซียแอร์ไลน์ (MH) สายการบินไทยแอร์เอเชีย (FD) รีสอร์ตเวิลด์เก็นติ้ง (RWG) การท่องเที่ยวมาเลเซีย การท่องเที่ยวมะละกา ฯลฯ

อัดโปรดักต์ใหม่-เพิ่มทางเลือก

พร้อมระบุว่า “มาเลเซีย” เป็นตลาดใหญ่ทั้งอินบาวนด์และเอาต์บาวนด์ โดยตลาดอินบาวนด์ หรือนักท่องเที่ยวขาเข้ามาเลเซียเข้ามาเที่ยวไทยสูงสุดอันดับ 2 รองจากตลาดจีน ขณะที่ตลาดเอาต์บาวนด์ หรือนักท่องเที่ยวขาออกนั้น ในช่วงก่อนวิกฤตโควิดคนไทยไปเที่ยวมาเลเซียเกือบ 2 ล้านคนต่อปี

ที่สำคัญกิจกรรมดังกล่าวนอกจากสมาชิกจะได้เรียนรู้รูปแบบการเดินทางใหม่ ๆ แล้ว ทางสมาคมยังมีโอกาสได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม (Minister of Tourism, Arts and Culture of Malaysia) และการท่องเที่ยวมาเลเซีย

โดยทางสมาคมได้เสนอให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯของมาเลเซีย โปรโมตและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้หลากหลายยิ่งขึ้น

เพราะเชื่อมั่นว่า หากมาเลเซียโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นก็จะทำให้นักท่องเที่ยวคนไทยมีทางเลือกที่มากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้อีกด้วย

ชี้ตลาด “เอาต์บาวนด์” พร้อมแล้ว

ด้าน “ธนพล ชีวรัตนพร” ประธานยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวสมาคม TTAA ระบุว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณให้คนไทยทั่วประเทศ และองค์กร บริษัทต่าง ๆ ได้รับข้อมูลว่าตลาดเอาต์บาวนด์ของประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการให้บริการแล้ว ทั้งกรุ๊ปเดินทางขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ธนพล ชีวรัตนพร

ขณะที่ผู้ประกอบการนำเที่ยวเองก็ได้ความรู้ สามารถอัพเดตสถานการณ์ และปรับรูปแบบการบริหารจัดการให้สอดรับกับตลาดและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วย

มาเลย์พร้อมโปรโมต “เที่ยวไทย”

ขณะที่ นางแนนซี่ ซูคริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม ประเทศมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมมาเลเซียตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสำหรับปี 2565 ไว้ที่ 2 ล้านคน แต่หลังจากเห็นผลตอบรับที่ดีจากนโยบายเปิดประเทศรัฐบาลได้ปรับเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสำหรับปีนี้อีกครั้งเป็น 4.5 ล้านคน

 แนนซี่ ชูคริ รมต.ท่องเที่ยวมาเลย์

และคาดว่าจะทำการรีวิวแผนและปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติใหม่อีกครั้งในเดือนกันยายน 2565 นี้ เนื่องจากแนวโน้มของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

ขณะเดียวกันหลาย ๆ ประเทศยังมีแผนเปิดประเทศเพิ่มขึ้น เช่น บรูไน ที่มีแผนเปิดประเทศเต็มรูปแบบในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หรือเกาหลี ญี่ปุ่น ที่มีแผนจะเปิดเร็ว ๆ นี้เช่นกัน

โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสูงสุดอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ ไทย และอินเดีย

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวมาเลเซียนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางซ้ำ รัฐบาลมาเลเซียจึงมีแผนที่จะนำเสนอโปรดักต์ใหม่ ๆ ด้านการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายขึ้น รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวมะละกา ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก และยังคงโปรโมตเกาะลังกาวี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (เหมือนภูเก็ตแซนด์บอกซ์) เป็นต้น

โดยในปี 2562 ก่อนโควิดมาเลเซียมีนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนประมาณ 1.8 ล้านคน และตั้งเป้าว่าน่าจะเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนในปี 2565 นี้

พร้อมย้ำว่า รัฐบาลมาเลเซียพร้อมที่จะดำเนินการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวกับประเทศไทย โดยเดือนสิงหาคม 2565 นี้จะมีการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคที่ประเทศไทย ทางมาเลเซียก็จะใช้โอกาสนี้อัพเดตโปรดักต์ประเทศไทย และประชาสัมพันธ์ให้คนมาเลเซียเดินทางไปเที่ยวประเทศไทยเช่นกัน