“สมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงาน” ภาพราชวงศ์อังกฤษยุคคิงชาร์ลส์ที่ 3 มีนัยสำคัญอย่างไร ใครเป็นใครบ้าง 

สมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่ทรงงาน
ภาพสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่ทรงงาน เผยแพร่อย่างเป็นทางการโดยสำนักพระราชวังอังกฤษ/ Hugo Burnand/ Royal Household 2023/ Handout via REUTERS

ภาพสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่เสด็จออกสีหบัญชร หรือยืนประทับเพื่อทักทายประชาชนที่ระเบียงพระราชวังบักกิงแฮมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 นั้น หากใครสังเกตจะเห็นความแตกต่างจากภาพเสด็จออกสีหบัญชรในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ความแตกต่างที่ว่านี้คือ สมาชิกราชวงศ์ที่เสด็จออกสีหบัญชรนั้นมีจำนวนน้อยลงมาก เนื่องจากคิงชาร์ลส์ประสงค์ให้มีเพียง “สมาชิกราชวงส์ที่ทรงงาน” เท่านั้นที่ปรากฏตัวในขั้นพิธีตอนนี้ ซึ่งคาดว่าเป็นการปูทางไปสู่การลดขนาดราชวงศ์ลง อย่างที่สื่ออังกฤษคาดการณ์กันมาตั้งแต่แรกที่คิงชาร์ลส์ที่ 3 ทรงขึ้นครองราชย์

ทั้งนี้ ในภาพการเสด็จออกสีหบัญชรนั้น นอกจากประกอบด้วยสมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงานแล้ว ยังมีลูกหลานที่ยังทรงพระเยาว์จากครอบครัวของสมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงาน ซึ่งหลัก ๆ คือ สมาชิกครอบครัวเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งเป็นรัชทายาทสายตรงของบัลลังก์ และเหล่า Page of Honour เด็กชายที่ต้องติดตามทำหน้าที่ถือฉลองพระองค์เสื้อคลุมให้คิงชาร์ลส์

ราชวงศ์อังกฤษ
Leon Neal/ Pool via REUTERS


หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำนักพระราชวังบักกิงแฮมของอังกฤษเผยแพร่พระราชสาส์นแสดงความขอบคุณสำหรับการร่วมเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลงท้ายว่า “ตอนนี้เราอุทิศชีวิตของเราอีกครั้ง เพื่อรับใช้ผู้คนในสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ”

พร้อมกันนั้น สำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้เผยแพร่ภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วยภาพ 4 ภาพคือ ภาพเดี่ยวคิงชาร์ลส์ที่ 3 ภาพเดี่ยวสมเด็จพระราชินีคามิลลา ภาพคู่กษัตริย์กับพระราชินี และภาพสมาชิกราชวงศ์จำนวน 12 พระองค์ (รวมคิงชาร์ลส์และราชินี) ซึ่งเน้นย้ำถึงพระประสงค์ที่ไม่ต้องการให้ประชาชนเห็นสมาชิกราชวงศ์จำนวนมากเหมือนในสมัยก่อน 

ราชวงศ์อังกฤษ คิงชาร์ลส์ ราชินีคามิลลา
ภาพสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 กับสมเด็จพระราชินีคามิลลา เผยแพร่อย่างเป็นทางการโดยสำนักพระราชวังอังกฤษ/Hugo Burnand/Royal Household 2023/Handout via REUTERS


ภาพสมาชิกราชวงศ์ 12 พระองค์นั้นระบุชื่อภาพว่า “สมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงาน” (Working members of The Royal Family) 

นัยสำคัญของการที่คิงชาร์ลส์มีพระประสงค์อยากให้ราชวงศ์ลดขนาดลง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการปรับตัวตามยุคสมัย และอีกส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะสำคัญกว่าก็คือ เหตุผลเรื่องการประหยัดงบประมาณที่สำนักจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ของกษัตริย์ต้องจ่าย

 

“สมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงาน” คืออะไร 

สมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงาน คือ สมาชิกของราชวงศ์ระดับสูงที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ ซึ่งหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านั้น ก็เช่น การพบปะกับบุคคลสำคัญระดับนานาชาติ, เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำของรัฐอย่างเป็นทางการ และงานอื่น ๆ ของรัฐ, การเปิดประชุมรัฐสภาและงานตามรัฐธรรมนูญ, การมอบประกาศเกียรติคุณ, การเสด็จเยือนต่างประเทศในนามของรัฐ (state visit) และการเปิดอาคารต่าง ๆ 

การทรงงานทั้งหมดที่ว่านี้ต้องเป็นหน้าที่ได้รับมอบหมายให้ทำในนามของกษัตริย์เท่านั้น จึงจะนับว่าเป็นหน้าที่ของราชวงศ์ ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ที่คล้ายกันนี้ แต่ทำในนามขององค์กรการกุศลหรือองค์กรอื่นใดก็ตาม ไม่นับว่าเป็นหน้าที่ของราชวงศ์ 

นี่เป็นคำอธิบายว่า ทำไมสมาชิกราชวงศ์หลายคนที่ (เราอาจจะเคยเห็นข่าวว่า) เสด็จไปทรงงานต่าง ๆ ในนามองค์กรการกุศลบ่อย ๆ แต่ไม่ถูกนับว่าเป็น “สมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงาน” เช่น เจ้าหญิงเบียทริซ และเจ้าหญิงยูจีนี ธิดาของเจ้าชายแอนดรูวส์ 

ส่วนสมาชิกราชวงศ์ระดับสูงที่เคยเป็น “สมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงาน” แล้วลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้คือ เจ้าชายแอนดรูวส์ ดยุกแห่งยอร์ก (Prince Andrew, Duke of York) พระราชโอรสของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และพระอนุชาของคิงชาร์ลส์ที่ 3 เนื่องจากมีข่าวฉาวมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ (Prince Harry, Duke of Sussex) ที่ทรงลาออกหลังจากมีปัญหากับครอบครัว

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 เผยแพร่อย่างเป็นทางการโดยสำนักพระราชวังอังกฤษ/Hugo Burnand/Royal Household 2023/Handout via REUTERS


การทรงงานของราชวงศ์ถือเป็นการทำงานเต็มเวลาในนามของสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น ค่าครองชีพ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่งบประมาณของรัฐไม่ครอบคลุม (เช่น ค่าเดินทางไปต่างประเทศและค่ารักษาความปลอดภัย) กษัตริย์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โดยใช้เงินจาก Duchy of Lancaster ซึ่งเป็นสำนักจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ของกษัตริย์ที่สะสมสืบทอดมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 

การมอบหมาย-แบ่งงานให้สมาชิกราชวงศ์นั้น เป็นการหารือและตัดสินใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบงานนั้น ๆ กับสำนักพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกราชวงศ์แต่ละพระองค์มีสถานะและคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทรงงานนั้น ๆ ได้สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี อย่างถ้าเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศ หน่วยงานของรัฐบาลที่จะร่วมหารือกับสำนักพระราชวังก็จะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูต หรือกงสุลใหญ่ในประเทศนั้น ๆ

สำหรับงานที่สำคัญมาก ๆ อย่างเช่น การต้อนรับประธานาธิบดีของประเทศอื่นที่เยือนสหราชอาณาจักร ในฐานะแขกของรัฐ โดยทั่วไปต้องเป็นกษัตริย์หรือรัชทายาทที่รับหน้าที่นี้โดยตรง

 

ใครเป็นใครบ้างในสมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงานยุคคิงชาร์ลส์

สมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่ทรงงาน
ภาพสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่ทรงงาน เผยแพร่อย่างเป็นทางการโดยสำนักพระราชวังอังกฤษ/Hugo Burnand/Royal Household 2023/Handout via REUTERS


ตามภาพที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเผยแพร่ออกมา สมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงานมีทั้งหมด 12 พระองค์ เรียงลำดับจากซ้ายมือไปขวามือ ดังนี้ 

1.เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์ (Prince Edward, Duke of Kent) สมาชิกราชวงศ์ระดับสูงที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก พระองค์เป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่อาวุโสที่สุดในปัจจุบัน (87 พรรษา) ทรงเป็นโอรสของเจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งเคนต์พระองค์ก่อน ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าจอร์จที่ 6 

กล่าวคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์ เป็นลูกพี่ลูกน้องคนแรกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่วนพระมารดาของพระองค์ก็เป็นลูกพี่ลูกน้องของเจ้าชายฟิลลิป พระสวามีของพระราชินีนาถผู้ล่วงลับด้วย 

2.เบอร์กิตต์ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ (Birgitte, Duchess of Gloucester) ชายาชาวเดนมาร์กของเจ้าชายริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์  

3.เจ้าชายริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ (Prince Richard, Duke of Gloucester) ทรงเป็นโอรสของเจ้าชายเฮนรี ดยุกแห่งกลอสเตอร์พระองค์ก่อน ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าจอร์จที่ 6 กล่าวคือ เจ้าชายริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ ทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องอีกพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 

4.เซอร์ทิโมธี ลอเรนซ์ (Timothy Laurence) พระสวามีของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ แต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกราชวงศ์ผ่านการสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงแอนน์

5.เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ (Anne, Princess Royal) พระราชธิดาพระองค์เดียวของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และทรงเป็นพระขนิษฐาพระองค์เดียวของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นสมาชิกราชวงศ์ที่มักจะทรงได้รับตำแหน่งสมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงานหนักที่สุดในแต่ละปี 

6.สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) 

7.สมเด็จพระราชินีคามิลล่า (Queen Camilla)

ราชินีคามิลลา ราชวงศ์อังกฤษ
ภาพสมเด็จพระราชินีคามิลลา เผยแพร่อย่างเป็นทางการโดยสำนักพระราชวังอังกฤษ/Hugo Burnand/Royal Household 2023/Handout via REUTERS


8.เจ้าฟ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ (William, Prince of Wales)
มกุฎราชกุมาร หรือรัชทายาทอันดับ 1 ของราชบัลลังก์อังกฤษ 

9.แคทเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Catherine, Princess of Wales) ชายาของเจ้าชายแห่งเวลส์ 

10.โซฟี ดัชเชสแห่งเอดินบะระ (Sophie, Duchess of Edinburgh) ชายาของเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ 

11.เจ้าหญิงอเล็กซานดรา (Princess Alexandra, The Honourable Lady Ogilvy) พระขนิษฐาของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ก ดยุกแห่งเคนต์ ทรงเป็นโอรสของเจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งเคนต์พระองค์ก่อน ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าจอร์จที่ 6 กล่าวคือ ทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องอีกพระองค์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงงานมาเป็นเวลายาวนาน 

12.เจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ (Prince Edward, Duke of Edinburgh) โอรสองค์เล็กของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และพระอนุชาองค์เล็กของคิงชาร์ลส์ที่ 3 ก่อนหน้านี้ทรงมีบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์ (Earl of Wessex) แล้วได้รับบรรดาศักดิ์ดยุกแห่งเอดินบะระหลังจากที่พระบิดา-เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระสวรรคต 


อ้างอิง : 

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง