ศรีลังกาปรับโครงสร้างหนี้ 4.2 หมื่นล้านเหรียญ ปิดธนาคาร 5 วัน กันคนแห่ถอนเงิน 

ศรีลังกาปรับโครงสร้างหนี้
Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP

ศรีลังกากำลังดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศมูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามเงื่อนไขการให้กู้เงินเพิ่มเติมของ IMF รัฐบาลประกาศปิดธนาคาร 5 วัน ป้องกันคนแห่ถอนเงิน 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ว่า ศรีลังกาประกาศวันหยุดธนาคาร 5 วันทำการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน เพื่อให้ภาครัฐดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะในประเทศ ซึ่งมีมูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

การปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐซึ่งจะมีการประกาศแผนมาตรการต่าง ๆ สร้างความกังวลว่าอาจนำไปสู่ความผันผวนในตลาดการเงิน

สื่อท้องถิ่นอ้างคำพูดของนักวิเคราะห์ที่กล่าวว่า รัฐบาลศรีลังกาประกาศวันหยุดเพื่อเป็นกันชนสำหรับปฏิกิริยาของตลาดที่อาจตอบสนองต่อการประกาศทางการเงินที่สำคัญ 

ตรงกันกับความเห็นของอเล็กซ์ โฮล์มส์ (Alex Holmes) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) ที่กล่าวกับบีบีซี (BBC) ว่า “การดำเนินการของรัฐบาลที่ให้ขยายวันหยุดออกไป หมายความว่าเห็นได้ชัดว่าธนาคารมีความเสี่ยงที่จะ เจอวิกฤตการแห่ถอนเงิน (bank run)”

แม้ว่าเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห (Ranil Wickremesinghe) ของศรีลังกาให้ความมั่นใจกับสาธารณชนว่า การปรับโครงสร้างหนี้จะไม่นำไปสู่การล่มสลายของระบบธนาคารในประเทศ

ขณะที่ นันดาลัล วีระสิงเห (Nandalal Weerasinghe) ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกาประกาศเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนว่า การปรับโครงสร้างหนี้อาจเป็นการขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ รวมถึงการขอแฮร์คัตหนี้ 30% จากเจ้าหนี้ต่างประเทศ และหนึ่งวันก่อนหน้านั้น เขาประกาศว่า ธนาคารพาณิชย์จะถูกกันจากแผนการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ 

“รัฐบาลคาดหวังว่ากระบวนการทั้งหมดจะสิ้นสุดลงในขณะที่ตลาดปิดทำการในช่วง 5 วันนี้” 

“ผู้ฝากเงินมั่นใจได้ในความปลอดภัยของเงินฝากของตนเอง และดอกเบี้ยก็จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ” ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกากล่าว  

โรชาน เปเรรา (Roshan Perera) นักเศรษฐศาสตร์และอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกากล่าวว่า เจ้าหนี้ในประเทศดูเหมือนจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน 

“จากสิ่งที่เราเห็น ธนาคาร ผู้ให้กู้เอกชน และนักลงทุน ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ แต่งบดุลของธนาคารกลางและกองทุนบำเหน็จบำนาญได้รับผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งมันไม่ยุติธรรม” 

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นการดำเนินการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ รัฐผิดนัดชำระหนี้ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนสินค้าจำเป็น เป็นเหตุให้ประชาชนทั่วประเทศลุกฮือลงถนนเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นภาพข่าวใหญ่เมื่อปีที่แล้ว นับเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของศรีลังกานับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 

ศรีลังกาพยายามหาทางแก้วิกฤต โดยยื่นมือขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศอย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็ได้รับความช่วยเหลือค่อนข้างดี 

ธนาคารโลก (World Bank) เพิ่งให้เงินสนับสนุน 700 ล้านดอลลาร์แก่ศรีลังกา ตามมาหลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีมาตรการช่วยเหลือ 3,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

ธนาคารโลกกล่าวในถ้อยแถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 ว่าจะให้การสนับสนุนศรีลังกาใน “แนวทางแบบค่อยเป็นค่อยไป” และบอกรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เงินสนับสนุน 700 ล้านดอลลาร์ที่จัดสรรให้ศรีลังกานั้น แบ่งเป็นจัดสรร 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนด้านงบประมาณ และอีก 200 ล้านดอลลาร์ที่เหลือเพื่อเอื้ออำนวยให้รัฐบาลศรีลังกาจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายได้มากขึ้น และเอื้อให้คนจนและคนเปราะบางมีโอกาสในการดำรงชีวิตดีขึ้น   

การช่วยเหลือของ IMF ที่ได้เจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ของศรีลังกา (จีนและอินเดีย) เพื่อพักหนี้ให้ศรีลังกา ก่อนที่ IMF จะให้เงินกู้ก้อนใหม่ 3,000 ล้านดอลลาร์ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยชีวิตศรีลังกาเอาไว้ อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือของ IMF มาพร้อมกับเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น กำหนดให้ศรีลังกาต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้อย่างรวดเร็ว จึงนำมาสู่การดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศมูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้