ชาวอเมริกันอ่วม “หนี้ครัวเรือน” ทำสถิติใหม่ ยอดค้างจ่ายบัตรเครดิตพุ่ง

ชาวอเมริกัน หนี้ การใช้จ่าย
Photo by Elijah Nouvelage / AFP

ตอนนี้คนในหลายประเทศประสบปัญหาเดียวกันคือ รายได้กับรายจ่ายไม่ค่อยสัมพันธ์กัน ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ สหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศหนึ่งที่ยอดหนี้บัตรเครดิต และหนี้ครัวเรือนโดยรวมพุ่งสูงขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2023 ว่า ยอดการใช้บัตรเครดิตของชาวอเมริกันพุ่งขึ้น 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 2 ปี 2023 เพิ่มขึ้นมากกว่า 4% ส่งผลให้ยอดการใช้บัตรเครดิตรวมอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำสถิติทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก

ขณะเดียวกัน ยอดหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเพิ่ม 0.1% ทำให้ยอดรวมหนี้ครัวเรือนขึ้นไปอยู่ที่ 17.06 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสถิติใหม่เช่นกัน

การเพิ่มขึ้นของหนี้บัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วนสำคัญในการเพิ่มขึ้นของตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ขณะที่ยอดหนี้จดจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือ “หนี้บ้าน” ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในหนี้ครัวเรือนนั้นมีสินเชื่ออนุมัติใหม่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนไม่มาก

ด้วยยอดสินเชื่อจดจำนองใหม่ที่เพิ่มไม่มาก ส่งผลให้ยอดสินเชื่อบ้านโดยรวมในไตรมาส 2 ลดลงเหลือ 12.01 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 12.04 ล้านล้านดอลลาร์ ในไตรมาสก่อนหน้า

นักวิจัยของเฟดสาขานิวยอร์กมองว่า หนี้บัตรเครดิตที่พุ่งขึ้นสะท้อนถึงการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่ง พอ ๆ กันกับที่สะท้อนถึงราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น

“แม้ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเผชิญกับอุปสรรคมากมายในปีที่แล้ว ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อหลังเกิดโรคระบาดใหญ่ และความล้มเหลวในภาคธนาคารเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ก็มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่แสดงถึงความทุกข์ยากทางการเงินของผู้บริโภคในวงกว้าง” นักวิจัยของเฟดสาขานิวยอร์กระบุ

ด้านสถานการณ์การชำระหนี้ “บัตรเครดิต” น่าเป็นห่วง เพราะในช่วงที่การใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้น อัตราการค้างชำระหนี้ก็เพิ่มเช่นกัน

เฟดนิวยอร์กเผยว่า ยอดค้างชำระหนี้บัตรเครดิตในไตรมาส 2 ปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของยอดหนี้ทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 6.5% ในไตรมาสแรก และเป็นสัดส่วนค้างชำระสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2012 แต่ก็ยังใกล้เคียงกับระดับปกติในระยะยาว

ส่วนการค้างชำระหนี้ครัวเรือนโดยรวมขยับจาก 3% ในไตรมาสแรก ขึ้นเป็น 3.1% ในไตรมาส 2

ยอดหนี้คงเหลือที่เพิ่มขึ้นนี้ท้าทายผู้กู้บางราย ขณะที่ผู้ที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาอาจอยู่ในภาวะถูกบีบเค้นมากขึ้น เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ชั่วคราวในช่วงโควิด-19 กำลังจะสิ้นสุด และผู้กู้ต้องเริ่มกลับมาชำระเงินกู้ตามปกติในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ถึงอย่างนั้น นักวิจัยของเฟดนิวยอร์กก็มองแนวโน้มไม่แย่ โดยบอกว่าเริ่มเห็นสัญญาณว่าหนี้ครัวเรือนทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 แม้ว่ายอดหนี้คงเหลือสูงกว่าก็ตาม

เอลิซาเบธ เรนเตอร์ (Elizabeth Renter) นักวิเคราะห์ข้อมูลจากเว็บไซต์การเงินส่วนบุคคล “เนิร์ดวอลเลต” (NerdWallet) มองต่างจากนักวิจัยของเฟดนิวยอร์กว่า “การค้างชำระบัตรเครดิตยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ว่า ผู้บริโภครู้สึกถึงความยากลำบากจากราคา [สินค้าและบริการ] ที่สูงลิ่ว และยอดเงินออมที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ หน้านี้”

ขณะที่ฝั่งรายได้ครัวเรือนที่ปรับอัตราเงินเฟ้อและภาษีแล้วยังต่ำกว่าในเดือนเมษายน 2020 (เดือนสุดท้ายก่อนที่โควิดจะระบาดในสหรัฐ) อยู่ประมาณ 9.1%

จากปัจจัยเหล่านี้ บริษัทหลักทรัพย์ “เอสเอ็มบีซี นิกโกะ ซีเคียวริตีส์” จากญี่ปุ่น เตือนว่า การที่รายได้ของครัวเรือนยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภค และการชำระหนี้ล่าช้าอาจจะเป็นความท้าทายใหม่ล่าสุดที่ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญ