ค่าเงิน “รูเบิล” ดิ่งพสุธาอีกรอบ ตอกย้ำ “แซงก์ชั่น” พ่นพิษรัสเซีย

ค่าเงินรูเบิล
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่แล้ว ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนลงมากที่สุดในรอบ 17 เดือน โดยในวันที่ 14 สิงหาคม ลงไปต่ำสุดถึง 101.75 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือสูญเสียมูลค่าไปแล้วประมาณ 30% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ และถือว่าเป็น 1 ใน 3 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ค่าเงินอ่อนในระดับย่ำแย่ที่สุดของปีนี้ ถึงแม้ในวันต่อมาธนาคารกลางรัสเซียจะประชุมฉุกเฉินและตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยแบบกระชากจาก 8.5% เป็น 12% สูงที่สุดเป็นครั้งที่ 2 นับจากบุกยูเครน แต่ก็ไม่ได้ช่วยชะลอการอ่อนค่ามากนัก

ธนาคารกลางรัสเซียระบุว่า สาเหตุที่ทำให้รูเบิลอ่อนค่า เป็นเพราะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง โดยนับจากเดือนมกราคม-กรกฎาคมปีนี้ การเกินดุลลดลง 85% พร้อมกับเตือนว่าอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

การอ่อนค่าของเงินรัสเซียจนทะลุ 100 รูเบิลต่อดอลลาร์ ทำให้เกิดเสียงไม่พอใจอย่างมาก ทั้งจากที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และสื่อทีวีที่สนับสนุนรัฐบาล โดย นายแม็กซิม โอเรชคิน ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของปูติน ตำหนิธนาคารกลางรัสเซียว่าเป็นเพราะใช้นโยบายที่ “ผ่อนคลาย” เกินไป ปล่อยกู้มากเกินไป ทำให้เงินท่วมระบบเศรษฐกิจ จนเกิดเงินเฟ้อ พร้อมกับเรียกร้องให้ลดการปล่อยกู้ลงมาในระดับที่ยั่งยืน เพื่อทำให้รูเบิลแข็งค่า

ส่วนรายการทีวีอย่าง Rossiya1 ซึ่งเป็นทีวีกระบอกเสียงรัฐบาล ดำเนินรายการโดย วลาดิมีร์ โซลอฟเยฟ ซึ่งมีผู้ชมหลายล้านคน ได้โจมตีธนาคารกลางอย่างดุเดือดในเชิงประชดประชันว่า “ประเทศอื่นกำลังหัวเราะเยาะพวกเราที่รูเบิลเป็น 1 ใน 3 สกุลเงินที่อ่อนค่าที่สุด ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ ‘นโยบายอัจฉริยะ’ ของ ‘แบงก์ชาติ’

ทั้งนี้ อิลวิรา นาบิอัลลินา ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย เคยได้รับเสียงชื่นชมในการรับมือและจัดการเศรษฐกิจรัสเซีย หลังจากรัสเซียบุกยูเครนและถูกชาติตะวันตกเล่นงานด้านการเงินและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้เธออาจจะถูกโยนให้เป็นแพะรับบาปในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า หลังจากเงินรูเบิลอ่อนค่าและเงินเฟ้อสูงเกิน 4% ซึ่งเกินเป้าหมายของธนาคารกลาง จนส่งผลกระทบต่อชาวรัสเซีย

อุลริช ลุชมานน์ หัวหน้านักกลยุทธ์ค่าเงินของคอมเมิร์ซแบงก์ เอจี ชี้ว่า การที่เงินรูเบิลอ่อนค่า บ่งชี้ว่าเกิดช่องโหว่ในการควบคุมเงินทุน ทำให้เงินทุนสามารถไหลออกนอกรัสเซียในอัตราเร็วขึ้น แม้จะขึ้นดอกเบี้ยแต่ก็แทบจะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและฉุดรั้งให้เงินทุนอยู่ในรัสเซียได้

ถึงแม้ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีปูตินจะอ้างว่าแบงก์ชาติของรัสเซียมีเครื่องมือจำเป็นหลายอย่างที่จะทำให้ทุกอย่างกลับสู่ปกติ แต่นักวิเคราะห์มองว่ารัสเซียมีทางเลือกค่อนข้างจำกัด คงไม่มีเครื่องมืออะไรนอกเหนือไปจากขึ้นดอกเบี้ยสูง ๆ และควบคุมเงินทุนไหลออก ตราบใดที่ปัญหาหลักคือสงครามยูเครน และการถูกแซงก์ชั่นจากตะวันตกไม่ได้รับการแก้ไข การขึ้นดอกเบี้ยก็ช่วยชะลอการอ่อนค่าได้เพียงชั่วคราว

ทิโมธี แอช นักกลยุทธ์พันธบัตรรัฐบาลของบลูเบย์ แอสเสต แมเนจเมนต์ ระบุว่า รูเบิลที่อ่อนค่าเป็นผลจากการถูกลงโทษที่รัสเซียรุกรานยูเครน “รูเบิลถูกกดดันทั้งจากปัญหาการสูญเสียรายได้จากการขายก๊าซให้ยุโรป และถูกกลุ่มจี-7 จำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบ ต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นเพราะถูกแซงก์ชั่น และก็ตามมาด้วยเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง”

เอียน เมลคูมอฟ นักเศรษฐศาสตร์อิสระในมอสโกชี้ว่า ธนาคารกลางรัสเซียไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เต็มที่ อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกมากอย่างที่เคยทำในช่วงหลังจากรัสเซียบุกยูเครนใหม่ ๆ ที่ขึ้นไปถึง 20% แต่ครั้งนี้ถึงแม้จะขึ้นในระดับ 15% ที่อาจหยุดการอ่อนค่าได้ 
แต่ก็จะตามมาด้วยผลเสีย แบงก์ชาติคงไม่อยากฆ่าเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างที่เคยทำในปีที่แล้ว

ในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลังจากบุกยูเครน รูเบิลอ่อนค่าอย่างมากที่ระดับ 136 รูเบิลต่อดอลลาร์ จากที่เคยอยู่ในระดับเฉลี่ย 74 รูเบิลต่อดอลลาร์ ก่อนจะฟื้นกลับมาแข็งค่าที่ประมาณ 50 รูเบิลในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว