4 ตัวเลขบ่งชี้ “ส่งออกอาเซียน” ปลายปีนี้ยังไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ส่งออกอาเซียน
ท่าเรือในประเทศมาเลเซีย (ภาพโดย Mohd RASFAN / AFP)

การส่งออกสินค้าของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนที่ซึม ๆ มาหลายเดือน (รวมทั้งไทยที่ส่งออกติดลบมาติดต่อกัน 11 เดือน เพิ่งจะพลิกเป็นบวกได้เมื่อเดือนสิงหาคม) จะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่ในช่วงปลายปีนี้ที่เหลืออยู่ไม่เต็ม 3 เดือน

สิ่งที่บ่งชี้และตอบคำถามนี้ได้ดีคือ “ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต” (PMI Manufacturing) ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มของภาคการส่งออกในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะหากเศรษฐกิจดี มีคำสั่งซื้อมาก ภาคการผลิตก็จะมีการซื้อวัตถุดิบและวัสดุมาก

ข้อมูล PMI ภาคการผลิตในอาเซียนที่สำรวจโดย “เอสแอนด์พี โกลบอล” (S&P Global) ในช่วงวันที่ 12-25 กันยายนที่ผ่านมา พบข้อมูลบ่งชี้ว่าสภาวะของภาคการผลิตในอาเซียนปรับตัวลดลง หลังจากที่ปรับตัวดีขึ้นมาในแต่ละเดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021

ตัวเลข 4 ดัชนี ทั้งดัชนีหลักและดัชนีย่อย อยู่ในโซนที่บ่งชี้ว่าการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนน่าจะยังไม่ฟื้นในปีนี้

ตัวเลขแรก “ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั่วไป” ในเดือนกันยายนลดลงมาอยู่ที่ 49.6 จุด จาก 51.0 จุด ในเดือนสิงหาคม เป็นการลดลงครั้งแรกในช่วง 25 เดือน ส่งสัญญาณว่าสภาวะธุรกิจปรับตัวลดลงอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นระดับเล็กน้อยก็ตาม

ตัวเลขที่สอง “การเติบโตของผลผลิต” เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดในช่วงเวลา 2 ปี กล่าวคือ การเติบโตชะลอตัวลงแรง

ตัวเลขที่สาม “คำสั่งซื้อใหม่” ที่ลดลงอีกครั้ง ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในปีนี้

ตัวเลขที่สี่ “การจ้างงานในภาคการผลิต” ซึ่งผู้ผลิตลดการจ้างงานลงอีกครั้งในเดือนกันยายน หลังจากที่เพิ่มการจ้างงานเล็กน้อยในเดือนสิงหาคม

จากทั้งหมด 7 ประเทศในอาเซียนที่ “เอสแอนด์พี โกลบอล” ทำการสำรวจ มี 4 ประเทศที่รายงานว่า สภาวะของภาคการผลิตของประเทศตนเองปรับตัวลดลงในเดือนกันยายน

ประเทศมาเลเซียมีผลการดำเนินงานแย่ที่สุด ภาคการผลิตปรับตัวลดลงในระดับสูงสุดติดต่อกันมาสามเดือน ค่าดัชนี PMI ทั่วไปลดลงไปอยู่ที่ 46.8 เป็นการปรับตัวลงในระดับเร็วสุดนับตั้งแต่ปี 2023

ประเทศที่ผลการดำเนินงานแย่เป็นอันดับสอง คือ สิงคโปร์ ซึ่งการผลิตลดลงอีกครั้งในเดือนกันยายน โดยค่าดัชนีทั่วไปอยู่ที่ 47.3 ปรับตัวลดลงในระดับสูงและมีอัตราการลดลงเร็วที่สุดเท่าที่มีการรายงานมานับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2021

ส่วนไทยก็รายงานว่าสภาวะธุรกิจปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และเป็นการลดลงในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยค่า PMI ทั่วไปลดลงจนมีค่าต่ำสุดในช่วง 28 เดือนที่ 47.8

เวียดนาม การผลิตลดลงเล็กน้อย PMI ทั่วไปอยู่ที่ 49.7 ซึ่งดัชนีอยู่ต่ำกว่า 50.0 มาแล้วถึง 6 เดือนในช่วง 7 เดือนล่าสุด

ส่วน 3 ประเทศที่รายงานว่าสภาวะการประกอบกิจการปรับตัวดีขึ้นนั้น ภาคการผลิตของเมียนมาเติบโตในระดับต่ำสุด (ค่า PMI อยู่ที่ 50.1) ซึ่งการเติบโตมีอัตราช้าลงอย่างชัดเจนจากเดือนสิงหาคม

ขณะที่ฟิลิปปินส์รายงานว่า สภาวะการประกอบกิจการปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง (PMI อยู่ที่ 50.6) หลังจากที่ลดลงเป็นครั้งแรกในช่วง 2 ปีเมื่อเดือนสิงหาคม

ประเทศที่สภาวะการประกอบธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงสุด คือ อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ค่า PMI ทั่วไปก็ลดลงจนมีค่าต่ำสุดในช่วงสี่เดือนที่ 52.3

“เอสแอนด์พี โกลบอล” สรุปว่า โดยรวมแล้วภาคการผลิตในอาเซียนจบไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ด้วย “สภาวะที่อ่อนตัวลง” ค่า PMI ทั่วไปปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในช่วง 25 เดือน โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการปรับตัวลดลง คือ คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ลดลงเพิ่มเติมอีกจนส่งผลกระทบต่อปริมาณคำสั่งซื้อใหม่โดยรวม (ทั้งในประเทศและส่งออก) ดังนั้น การเติบโตของผลผลิตจึงลดลงจนมีค่าต่ำสุดในช่วงเวลาที่มีการเติบโตติดต่อกัน 2 ปีรอบปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน กิจกรรมการซื้อไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเพิ่มขึ้นติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 สิ้นสุดลง เป็นเพราะผู้ผลิตพยายามเพิ่มการใช้สต๊อกแทน โดยสต๊อกวัตถุดิบลดลงเป็นครั้งแรกในช่วง 6 เดือน ขณะที่สต๊อกสินค้าสำเร็จรูปลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และมีอัตราเร็วที่สุดในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี

มาเรียม บาลุช (Maryam Baluch) นักเศรษฐศาสตร์ของ “เอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์” (S&P Global Market Intelligence) แสดงความเห็นว่า ภาคการผลิตในอาเซียนแสดงสัญญาณการชะลอตัวอีกครั้งในเดือนกันยายน ซึ่งค่า PMI ทั่วไปลดลงต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 เป็นครั้งแรกในช่วงเวลา 2 ปีกว่า คำสั่งซื้อสินค้าใหม่ลดลงเป็นครั้งแรกในปี 2023 ขณะที่อัตราการเติบโตของการผลิตลดลงจนมีค่าต่ำสุดในช่วง 24 เดือน

“ด้วยความเชื่อมั่นของผู้ผลิตในอาเซียนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานในอดีต ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ข้อมูลจึงชี้ว่ามีความเสี่ยงที่ภาคส่วนนี้จะปรับตัวลดลงเพิ่มเติมต่อไป”

ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลข PMI ที่บ่งชี้ แต่เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจโลกประกอบกัน ทั้งเศรษฐกิจในยุโรปที่มีแนวโน้มหดตัว เศรษฐกิจจีนที่น่าจะยังไม่ดีขึ้นง่าย ๆ เศรษฐกิจสหรัฐที่ว่า “แข็งแกร่ง” ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจะรอดเศรษฐกิจถดถอยได้จริงหรือ ในเมื่อดอกเบี้ยสูงขนาดนี้

…แนวโน้มก็ค่อนข้างชัดเจนว่า ยังไม่มีตลาดไหนที่จะมอบแสงสว่างสดใสให้กับการส่งออกของอาเซียนในปลายปีนี้