เฟดไม่ยอมจบดอกเบี้ยขาขึ้น อิสราเอล-ฮามาสเพิ่มเสี่ยงเศรษฐกิจ

Photo by Patrick T. Fallon / AFP
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

เป็นไปตามที่ตลาดคาดหมายสำหรับผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน คณะกรรมการมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 5.25-5.5% หรือเท่ากับเดือนกรกฎาคม นับเป็นครั้งที่สองติดต่อกันที่ไม่มีการปรับดอกเบี้ย หลังจากก่อนหน้านี้ปรับขึ้น 11 ครั้ง

การตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ในการคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม เกิดขึ้นท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจที่ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยแถลงการณ์ของคณะกรรมการระบุว่า กิจกรรมเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวแข็งแกร่ง 4.9% เช่นเดียวกับการจ้างงาน

ถ้อยคำในแถลงการณ์ของคณะกรรมการไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนักจากครั้งก่อนหน้า ยกเว้นข้อสังเกตที่ว่าภาวะการเงินและสินเชื่อตึงตัวขึ้น การเพิ่มคำว่า “การเงินตึงตัว” ขึ้นเข้ามาในถ้อยแถลงครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากผลตอบแทนพันธบัตรขยับตัวสูงขึ้นทะลุ 5% จนสร้างความกังวลต่อตลาดหุ้น

ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงก็ไม่ได้ให้ทิศทางชัดเจนเกี่ยวกับดอกเบี้ยในครั้งต่อไป โดยยังใช้คำพูดเดิมคือ จะรอประเมินข้อมูลที่เข้ามาใหม่ในช่วงนั้น ๆ ก่อนตัดสินใจใด ๆ

การตัดสินใจตรึงดอกเบี้ย ยังเกิดขึ้นในภาวะที่เงินเฟ้อชะลอลง จากที่เคยพุ่งอย่างร้อนแรงในปี 2022 โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนกันยายนอยู่ที่ 3.7% ตามที่ตลาดคาด น้อยกว่าเดือนสิงหาคมซึ่งขยายตัว 3.8% ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตร ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่าเพิ่มขึ้น 3.36 แสนตำแหน่ง หรือเท่ากับว่ามีจำนวนงานที่เสนอให้มากกว่าจำนวนผู้หางานที่ระดับ 1.5 งานต่อ 1 คน

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงภายหลังประชุมว่า กระบวนการดึงเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในเป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืนยังต้องใช้เวลาอีกยาวไกล คณะกรรมการยังไม่ได้ตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับการประชุมเดือนธันวาคม อีกทั้งไม่ได้พิจารณาหรือหารือกันเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยอีกด้วย พร้อมทั้งย้ำว่า เฟดและคณะกรรมการเห็นว่ามีความจำเป็นที่เศรษฐกิจและตลาดจ้างงานควรชะลอลงบ้างเพื่อเงินเฟ้อจะได้ลดลง

ประธานเฟดกล่าวเตือนด้วยว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับการประชุมเดือนธันวาคม แต่ถึงแม้ในเดือนธันวาคมจะมีการตรึงดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง

“แนวคิดที่ว่าหลังจากหยุดขึ้นดอกเบี้ยสักหนึ่งหรือสองครั้งแล้ว มันยากที่จะขึ้นอีก เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง คณะกรรมการจะทำในสิ่งที่คิดว่าเหมาะสมในช่วงเวลานั้น ๆ” ประธานเฟดกล่าว และว่าในเวลานี้เศรษฐกิจสหรัฐยังมีความยืดหยุ่นและฟื้นคืนสภาพได้ดีจนน่าประหลาดใจ แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นสงครามอิสราเอล-ฮามาส และความไม่แน่นอนอื่น ๆ ทั้งระดับโลกและภายในสหรัฐ เช่นรัฐบาลอาจต้องชัตดาวน์ ก็สร้างความเสี่ยงมาก

ถ้อยแถลงของคณะกรรมการถูกตลาดตีความว่า ในมุมมองของเฟดเห็นว่าเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งมากทั้งที่ดอกเบี้ยสูง ซึ่งเป็นภาวะที่อาจทำให้มีการตรึงดอกเบี้ยไว้สูงเป็นเวลานาน ทำให้ตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่าทิศทางของเฟดจากนี้คือ “ตรึงดอกเบี้ยสูงและนาน” และประเมินว่ากว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยก็ประมาณเดือนมิถุนายน 2024

วิตนีย์ วัตสัน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนตราสารหนี้ของโกลด์แมนแซกส์ แอสเสต แมเนจเมนต์ ชี้ว่า เฟดน่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ระยะหนึ่ง มีแนวโน้มว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใด ๆ ในปี 2024 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีความเสี่ยงทั้งสองด้านในอนาคต คืออาจมีทั้งการขึ้นหรือลดดอกเบี้ย

กล่าวคือหากเงินเฟ้อสูงขึ้นเพราะราคาพลังงานเพิ่มขึ้น พร้อมกับเศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่ง ก็เป็นเหตุผลที่จะขึ้นดอกเบี้ย แต่ถ้าหากเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะดอกเบี้ยสูงเกินไป ก็อาจจะนำไปสู่การลดดอกเบี้ย

ด้าน ซีมา ชาห์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ของพรินซิพอล แอสเสต แมเนจเมนต์ เห็นว่า ถ้อยแถลงของคณะกรรมการที่เน้นเรื่องภาวะการเงินตึงตัว เป็นสาระหลักที่อาจส่งสัญญาณว่าเฟดมีความต้องการน้อยลงที่จะขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐตอบสนองทางบวกต่อผลการประชุม โดยดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 221.71 จุด หรือ 0.67% ปิดที่ 33,274.58 จุด เอสแอนด์พีเพิ่มขึ้น 44.06 จุด หรือ 1.05% ปิดที่ 4,237.86 จุด และแนสแดคปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 1.64% หรือ 210.323 จุด ปิดที่ 13,061.47 จุด