เมื่อ “สี จิ้นผิง” ออกโรงเอง สร้างความมั่นใจดึงต่างชาติลงทุน

สี จิ้นผิง
Photo by CARLOS BARRIA / POOL / AFP
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน และประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐ พบปะกันเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่สหรัฐอเมริกาในงานประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ไม่ให้เสื่อมถอยไปมากกว่านี้ ดูเหมือนว่าทางจีนก็ได้ส่งสัญญาณทางบวกสู่ประชาคมธุรกิจต่างประเทศด้วยเช่นกัน

ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของจีน ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการโปลิตบูโร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของจีนเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวว่า จีนจะต้องให้ความมั่นใจแก่บริษัทต่างชาติว่าการใช้กฎหมายใด ๆ ของทางการจีนจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เปิดกว้างและครอบคลุม ระบบกฎหมายต้องเพิ่มการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของต่างชาติ รวมทั้งปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของบริษัทต่างชาติ

“ปักกิ่งต้องสร้างระบบกฎหมายที่มีตลาดนำและสร้างสภาพแวดล้อมระดับเฟิรสต์คลาสสำหรับการทำธุรกิจของนานาชาติ”

ท่าทีของ สี จิ้นผิง ดูเหมือนจะต่อยอดมาจากสุนทรพจน์ของเขาที่กล่าวต่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอเมริกันในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ซานฟรานซิสโก นอกรอบการประชุมเอเปค ซึ่งเขาให้สัญญาว่าจะใช้มาตรการที่ “อบอุ่นใจ” เพื่อให้บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนและทำธุรกิจในจีนง่ายขึ้น ซึ่งได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง

การเปลี่ยนท่าทีของจีน ยังเกิดขึ้นหลังจากบริษัทต่างชาติได้ร้องเรียนมานาน เกี่ยวกับกฎระเบียบที่คลุมเครือและใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ รวมทั้งปัญหาขโมยทรัพย์สินทางปัญญาต่างชาติ ทำให้เดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทอเมริกันและยุโรปเตือนว่าความมั่นใจของธุรกิจต่างชาติในจีนตกต่ำสุดในรอบหลายปี อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจเห็นว่ามีสัญญาณว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น หลังจากผู้นำทั้งสองได้พบกัน

ไล่เลี่ยกันนั้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ได้กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการ “ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ซัพพลายเชน เอ็กซ์โป” ในปักกิ่งว่า ท่ามกลางความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการปกป้องทางการค้าและโลกาภิวัตน์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ จีนจะยังคงสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจสำหรับนานาชาติโดยอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย พร้อมกันนั้น จีนเต็มใจจะสร้างสายสัมพันธ์ด้านห่วงโซ่อุปทานกับทุกประเทศให้ใกล้ชิดมากขึ้น

รัฐบาลจีน จัดงานนิทรรศการดังกล่าวเป็นเวลา 5 วัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนยังคงเป็น “โรงงานโลก” ที่ใคร ๆ ก็ขาดไม่ได้ มีบริษัทเข้าร่วมงาน 550 ราย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทต่างชาติ 130 ราย ซึ่งรวมถึงบริษัทชั้นนำของสหรัฐอย่างแอปเปิลและเทสลา ซึ่งบรรดาหอการค้าต่างชาติเห็นว่างานนี้เป็นหน้าต่างสำหรับต่างชาติในการประเมินโอกาสที่จีนเสนอให้ รวมทั้งมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าธุรกิจต่าง ๆ กำลังประเมินตลาดจีนอย่างไร

“เจนส์ เอสค์ลุนด์” ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปในจีน กล่าวว่า คาดว่านิทรรศการนี้จะทำให้เห็นชัดขึ้นว่าตอนนี้จีนมองบทบาทตัวเองในห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างไร รวมทั้งจะแก้ปัญหาที่กำลังกดดันอยู่ในการค้าและโลกาภิวัตน์อย่างไร อีกทั้งจีนมีโอกาสจะมอบห่วงโซ่อุปทานโลกที่แข็งแกร่งกว่าเดิมได้อย่างไร

โลห์ วี เค็ง ประธานหอการค้ามาเลเซียในจีน ชี้ว่า จุดประสงค์หลักของพวกเราที่เข้าร่วมงานนี้เพราะอยากทำความเข้าใจว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ยังคงทำธุรกิจในจีนกำลังวางแผนจะทำอะไรในจีน ตัวอย่างเช่น หากยังมีอุตสาหกรรมบางอย่างที่ยังคงใช้ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดในจีน มันก็เป็นการทำนายว่าอุตสาหกรรมนั้นยังมีศักยภาพสูงในจีน

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อด้วยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนความไม่แน่นอนภายในประเทศที่เกิดจากนโยบายรัฐบาล ทำให้บริษัทต่างชาติย้ายการลงทุนออกจากจีนไปบางส่วน พร้อมทั้งลดความเสี่ยงด้าน
ห่วงโซ่อุปทานโดยการไม่พึ่งพาจีนมากเกินไป

ปัจจัยหลายอย่างดังกล่าวข้างต้นทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตน้อยลง ประกอบกับไตรมาส 3 ปีนี้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ในจีน ลดลงเป็นครั้งแรก ทำให้จีนพยายามดึงดูดความสนใจต่างชาติให้กลับมาลงทุนอีกครั้งด้วยมาตรการหลากหลาย