ความท้าทายของ “พราโบโว” หลังชนะเลือกตั้งอินโดนีเซีย

ปราโบโว สุเบียนโต และกิบราน รากาบูมิง
พราโบโว สุเบียนโต และกิบราน รากาบูมิง (ภาพโดย Yasuyoshi CHIBA / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวบรัดและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามที่หลายฝ่ายคาดหมาย เมื่อ “พราโบโว สุเบียนโต” ได้รับชัยชนะเด็ดขาด ด้วยสัดส่วนคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่าง 57-59% ของผู้ที่มาลงคะแนนทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องใช้การชิงชัยรอบที่สองอีกต่อไป

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองและนักวิเคราะห์ทั่วไประบุตรงกันว่า พราโบโว ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปได้รับชัยชนะง่ายดายในครั้งนี้ สืบเนื่องจากอิทธิพลและความนิยมในตัวของ “โจโก วิโดโด” หรือที่รู้จักกันดีกว่าในอินโดนีเซียในชื่อ “โจโกวี” ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

โจโกวีไม่ได้ประกาศให้การสนับสนุนใครอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จริง แต่การที่ปรากฏชื่อ “กิบราน รากาบูมิง” ลูกชายคนโตของโจโกวีลงสมัครรับเลือกตั้งคู่กับพราโบโว ในฐานะรองประธานาธิบดี ส่งผลอย่างสำคัญทำให้ระดับความนิยมในตัวพราโบโวพุ่งขึ้นสูงเกิน 50% ที่จำเป็นต้องได้รับ เพื่อให้ได้ชัยชนะในทันที ไม่ต้องแข่งขันรอบที่สองต่ออีกแล้ว

สิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามองในเวลานี้ จึงเปลี่ยนไปจากผลการเลือกตั้ง เป็นการพุ่งเป้าไปที่ความท้าทายของว่าที่ประธานาธิบดี ว่าด้วยการดำเนินการตามนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ และว่าด้วยความสามารถในการสลัดอิทธิพลของโจโกวีให้พ้นตัวได้หรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองอินโดนีเซียอย่าง “จุน ฮอนนะ” ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยริสึเมกัน ในญี่ปุ่น ถึงกับเชื่อว่า ทันทีที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง “เกมแห่งอำนาจ” ระหว่างโจโกวีและพราโบโวก็เริ่มต้นขึ้นในทันทีทันควัน ฮอนนะชี้ว่าพราโบโวจะยึดถือผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นความสำเร็จส่วนตัวของตนเอง

“และสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะสามารถขจัดอิทธิพลของโจโกวีออกไปให้หมดจดได้” ฮอนนะเชื่ออย่างนั้น

ฮอนนะเชื่อว่า เมื่อมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการไม่เกิน 20 มีนาคมที่จะถึงนี้ ก่อนที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นพราโบโวจะทำทุกอย่างเพื่อลดทอนอิทธิพลของ ยิบราน รากาบูมิง และดึงตัวเองออกมาให้ห่างจากอิทธิพลของโจโกวีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อิทธิพลของโจโกวีจะยังคงอยู่หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ทุกคนจะได้เห็นกันภายในสองสามเดือนข้างหน้านี้แล้ว

ระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สิ่งสำคัญที่พราโบโวประกาศซ้ำ ๆ หลายครั้งหลายคราก็คือ การคงแนวนโยบายสำคัญ ๆ เอาไว้ ตั้งแต่เรื่องการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา ไปสู่นูซานตารา เมืองใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างบนเกาะบอร์เนียว ไปจนถึงเรื่องนโยบายต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนา “อุตสาหกรรมแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ” ของอินโดนีเซียขึ้นเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนา “ระบบห่วงโซ่ซัพพลาย” ที่โดยหลักคือห่วงโซ่ซัพพลายสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของอินโดนีเซียขึ้นมา แทนที่จะส่งออกเพียงแค่สินแร่วัตถุดิบเป็นสินค้าออกเหมือนก่อนหน้านี้

ฮอนนะตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในขณะเดียวกัน นโยบายที่หาเสียงเอาไว้ซึ่งถือว่าเป็นของพราโบโวเอง นโยบายหนึ่งคือแผนการจัดสรรงบประมาณ 460 ล้านล้านรูเปียห์สำหรับโครงการอาหารเที่ยง กับนมโรงเรียนฟรี ที่ครอบคลุมไปถึงมารดาใกล้คลอดด้วยเช่นกัน กับอีกนโยบายหนึ่งคือ การเพิ่มงบประมาณทางด้านทหารสำหรับกองทัพอินโดนีเซีย

ซึ่งเชื่อว่าพราโบโวจะผลักดันให้นโยบายทั้งสองนี้เป็นนโยบายที่มีความสำคัญสูงสุดแทน

ปัญหาก็คือ ทั้งสองนโยบายนี้สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล จนสามารถส่งผลกระทบให้ “วาระ” ต่าง ๆ ที่โจโกวีกำหนดไว้แต่เดิมชะงักงันได้ หรือไม่เช่นนั้นก็จะส่งผลต่อวินัยทางการคลังของอินโดนีเซียอย่างรุนแรง

ริชาร์ด เบอร์ซุค นักวิชาการจากสำนักกิจการระหว่างประเทศศึกษา เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ เห็นพ้องกับข้อสังเกตนี้ และเสริมว่าคณะรัฐมนตรีที่พราโบโวแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งในอีกไม่ช้าไม่นาน จะส่งผลต่อตลาดโดยรวมที่กำลังจับตาการเปลี่ยนแปลงในอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ความมีวินัยทางการคลัง ซึ่ง ศรี มุลยานี รัฐมนตรีคลังในเวลานี้พยายามรักษาเอาไว้อย่างถึงที่สุดกำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญ ว่าจะคงอยู่ต่อไปภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่ หรือในที่สุดแล้วผู้นำใหม่อย่างพราโบโวจะขยับงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลให้สูงขึ้นจนถึงระดับที่น่ากังวล

ในเวลาเดียวกัน โจโกวีจะสามารถแสดงบทบาทและอิทธิพลของตนเองผ่านการให้การสนับสนุนบทบาทของลูกชายได้มากน้อยเพียงใด

เหล่านี้ล้วนท้าทายและเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงความสำเร็จ หรือล้มเหลวของพราโบโวได้ทั้งสิ้น