ทำไมเลือกตั้งอินโดนีเซียจึงสำคัญต่อไทย ?

เลือกตั้งอินโดนีเซีย
ปราโบโว ซูเบียนโต กับกิบราน รากาบูมิง ประกาศชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 (ภาพโดย Yasuyoshi CHIBA/AFP)
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี 

อินโดนีเซียเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทราบผลอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) หัวหน้าพรรคเกอรินดรา (Gerindra) ผู้สมัครหมายเลข 2 ชนะไปด้วยคะแนนประมาณ 58% ไม่ต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง

ทีมของปราโบโว ซูเบียนโต มีผู้ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คือ กิบราน รากาบูมิง (Gibran Rakabuming) ลูกชายของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo)  แถมทีมนี้ยังประกาศสานต่อนโยบายดี ๆ ของโจโกวีด้วย ซึ่งมีส่วนในการช่วยเรียกคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่นิยมในตัว “โจโกวี” อย่างสูง 

แต่จะบอกว่า ปราโบโว ซูเบียนโต ชนะเพราะการสนับสนุนของโจโกวีเพียงอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะปราโบโวก็มีจุดแข็งและจุดขายของตัวเอง เขาทั้งมีความเป็นผู้นำ มีความแข็งแกร่งและชาตินิยมในแบบทหาร แต่ขณะเดียวกันเขาก็ได้สร้างตัวตนที่เป็นคนสนุกสนานและเข้าถึงง่ายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมมากในหมู่คนรุ่นใหม่ 

จุดเด่นของนโยบายสำคัญของปราโบโว คือ มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน มีตัวเลขเป้าหมายให้เห็นเป็นรูปธรรม (จะทำได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) อย่างเช่น นโยบายที่จะจัดสรรงบประมาณของรัฐในการลงทุนด้านวิจัย พัฒนานวัตกรรม และสนับสนุนกิจการของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยตั้งเป้า 1.5-2.0% ของจีดีพีในระยะเวลา 5 ปีที่ดำรงตำแหน่ง และนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมปลายน้ำ พร้อมตั้งเป้าหมายสร้างงานใหม่ 19 ล้านตำแหน่ง

เท่าที่สังเกต การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้รับความสนใจจากคนไทยน้อยกว่าการเลือกตั้งไต้หวันที่ผ่านไปเมื่อเดือนที่แล้ว อาจจะเพราะว่าการเลือกตั้งไต้หวันมีประเด็นความขัดแย้งที่ชี้ชะตาโลกให้ต้องลุ้น 

แต่จริง ๆ แล้ว การเลือกตั้งของอินโดนีเซียสำคัญต่อไทยไม่น้อยไปกว่าการเลือกตั้งไต้หวัน ด้วยหลายเหตุผล 

เหตุผลแรก อินโดนีเซียเป็นประเทศร่วมอาเซียน แถมยังมีสถานะเหมือนเป็น “พี่ใหญ่” ของอาเซียน ด้วย “ขนาด” ที่ใหญ่ที่สุดทั้งในแง่พื้นที่ จำนวนประชากร และเศรษฐกิจ อินโดนีเซียจึงมีบทบาทในการผลักดันนโยบายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไปจนถึงผลักดันโซลูชั่นในการแก้ปัญหาร่วมของอาเซียน 

เหตุผลที่สอง อินโดนีเซียจะมีอิทธิพลมากขึ้นในเวทีโลก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การนำของโจโก วิโดโด อินโดนีเซียได้ก้าวขึ้นไปเป็นประเทศที่มีบทบาทในเวทีโลกไปแล้ว ซึ่งบทบาทของอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้นในยุคของโจโกวี เป็นการปูทางให้รัฐบาลต่อไปเพิ่มบทบาทอย่างต่อเนื่องได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเมื่อมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนุนหลัง

ด้วยสองเหตุผลที่ว่ามา หมายความว่าไทยจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และนโยบายร่วมบางอย่างที่ผลักดันโดยผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซีย เราจึงต้องสนใจว่า ผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซียเป็นใคร มีทิศทางนโยบายแบบไหน 

และเหตุผลที่สาม อินโดนีเซียเป็น “ตลาด” ของไทย และขณะเดียวกันก็เป็น “คู่แข่ง” ทั้งในแง่การค้าและการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2018-Q3/2023) อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้สูงที่สุดในอาเซียน มูลค่ารวม 5 ปี 122,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่า FDI ของไทยในช่วงเดียวกันลดลง 20.3% มูลค่ารวมอยู่ที่ 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยจึงต้องศึกษาและเตรียมรับมือไม่ให้ขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอยไปมากกว่านี้ 

ถ้าสรุปแบบรวบรัดว่าทำไมไทยควรสนใจการเลือกตั้งอินโดนีเซีย ก็คือ เราต้องจับตามองเพื่อให้รู้เขารู้เราว่า คู่ค้า คู่แข่ง และคนที่มีอิทธิพลเหนือเรา เขาจะเดินเกมเดินหมากอย่างไรต่อไป