สรุปการประชุม IPEF รมว.พาณิชย์สหรัฐมาหารืออะไรกับไทยและหุ้นส่วนอีก 12 ประเทศ

จีนา เอ็ม. เรมอนโด และปานปรีย์ พหิทธานุกร
จีนา เอ็ม. เรมอนโด และปานปรีย์ พหิทธานุกร

เปิดผลการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่ รมว.ต่างประเทศของไทยร่วมกับ รมว.พาณิชย์ของสหรัฐ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ กระทรวงการต่างประเทศของไทย และมีรัฐมนตรีอีก 12 ประเทศหุ้นส่วนร่วมประชุมผ่านออนไลน์ 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2024 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (Gina Marie Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) ณ กระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศหุ้นส่วน IPEF อีก 12 ประเทศ เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกล

IPEF เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่สหรัฐจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ประกอบด้วยประเทศหุ้นส่วน 14 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ฟิจี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐ และเวียดนาม มีวัตุประสงค์เพื่อการส่งเสริมโอกาสทางการค้า การลงทุน และนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างครอบคลุมและยั่งยืน 

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ครั้งแรกของปี 2024 และเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ครั้งแรกที่จัดขึ้นนอกสหรัฐอเมริกา 

ประชุม IPEF ระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ปี 2024

กระทรวงการต่างประเทศของไทยเผยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงพัฒนาการที่สำคัญใน IPEF โดยเฉพาะการเริ่มมีผลบังคับใช้ของความตกลง IPEF ว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้เสาความร่วมมือที่ 2 (Pillar II : Supply Chain) และความสำเร็จในการสรุปการเจรจาร่างเอกสารความตกลง IPEF จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 

  • ร่างความตกลง IPEF ภายใต้เสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Pillar III : Clean Economy) 
  • ร่างความตกลง IPEF ภายใต้เสาความร่วมมือที่ 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Pillar IV : Fair Economy) 
  • ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรือง ที่จะเป็นการจัดตั้งกลไกกำกับดูแลการขับเคลื่อนความร่วมมือ IPEF ในภาพรวม ซึ่งแต่ละประเทศหุ้นส่วนจะดำเนินการกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การลงนามต่อไป

ที่ประชุมยังได้หารือถึงแผนการดำเนินความร่วมมือ IPEF ภายใต้เสาความร่วมมือต่าง ๆ ในระยะต่อไป โดยเฉพาะการจัดตั้งกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อการทำงานร่วมกันภายใต้เสาความร่วมมือที่ 3 ความคืบหน้าของแผนความร่วมมือ Cooperative Work Programs ของเสาความร่วมมือที่ 3 ในด้านตลาดคาร์บอน ไฮโดรเจน ไฟฟ้าสีเขียว เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถภายใต้เสาความร่วมมือที่ 4 ในด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสด้านภาษี

ปานปรีย์ พหิทธานุกร ประชุม IPEF
ปานปรีย์ พหิทธานุกร

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดตั้งและให้ทุนสนับสนุน IPEF Catalytic Capital Fund และการเตรียมการสำหรับการประชุม Clean Economy Investor Forum เพื่อระดมทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 มิถุนายน 2024 ที่สิงคโปร์ ควบคู่ไปกับการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ครั้งต่อไปในวันที่ 6 มิถุนายน 2024

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้กล่าวยินดีกับความคืบหน้าของ IPEF โดยเฉพาะการสรุปผลการเจรจาร่างความตกลงและการดำเนินการสำหรับเสาความร่วมมือที่ 3 และ 4 ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังภาคธุรกิจถึงความพร้อมของประเทศในภูมิภาคในการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเป็นธรรม 

พร้อมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมภายใต้เสาความร่วมมือที่ 3 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ ทรัพยากรแร่สำคัญ และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยให้ความสำคัญ 

จีนา เรมอนโด IPEF 2024
จีนา เรมอนโด

อีกทั้งได้เน้นย้ำการสนับสนุนของไทยต่อความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุน IPEF Catalytic Capital Fund และการประชุม Clean Economy Investor Forum ซึ่งไทยมีความพร้อมเข้าร่วมและจะทำงานร่วมกับประเทศหุ้นส่วน IPEF อย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐเปิดเผยเกี่ยวกับการประชุมนี้ว่า ในระหว่างการประชุม รัฐมนตรีเรมอนโดได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของไทยในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และยังยกย่องการมีส่วนร่วมที่สำคัญของประเทศไทยต่อ IPEF 

รัฐมนตรีเรมอนโดและรองนายกรัฐมนตรีของไทยหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าและขั้นตอนต่อไปของ IPEF ในการที่จะส่งมอบผลประโยชน์ที่จับต้องได้ให้กับคนทำงาน ธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศพันธมิตรต่อไปอย่างต่อเนื่อง