วิกฤต “โบอิ้ง” ปัญหาโผล่ไม่หยุด จะฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาอย่างไร

โบอิ้ง
สำนักงานโบอิ้ง ในเมืองเอลเซกุนโด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (ภาพโดย Patrick T. Fallon / AFP)

“โบอิ้ง” (Boeing) ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติอเมริกันเผชิญวิกฤตความไม่เชื่อมั่นของลูกค้าอย่างหนัก หลังจากเกิดเหตุเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max 9 ของสายการบินอลาสกาแอร์ไลน์ (Alaska Airlines) แผงประตูฉุกเฉินหลุดกลางอากาศในวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา

หลังเกิดเหตุ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) ได้สั่งระงับการบินเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max 9 ราว 170 ลำจากทั่วโลกที่บินในน่านฟ้าสหรัฐ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย

“เครื่องบิน” เป็นสินค้าที่ลูกค้าต้องการ “ความเชื่อมั่นในคุณภาพ” มากที่สุด เพราะเป็นสินค้าที่มีราคาสูงมาก และการออกบินในแต่ละครั้งต้องรับผิดชอบชีวิตผู้คนจำนวนมาก การที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสูญเสียความน่าเชื่อถือในสายตาลูกค้าเป็น “วิกฤต” ที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของบริษัทได้เลย ตอนนี้ข้อกังวลที่สำคัญเหนืออื่นใดของโบอิ้งจึงอยู่ที่เรื่องนี้ เพราะหลังเกิดอุบัติเหตุนี้ ความเชื่อมั่นที่ลูกค้าและนักลงทุนมีต่อโบอิ้งก็ลดฮวบ

นับจากต้นปีถึงตอนนี้ (14 มีนาคม) หุ้นโบอิ้งร่วงลงไปแล้ว 27.57% มาร์เก็ตแคปหายไปแล้วประมาณ 42,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท)

“ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส” (United Airlines) เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ไม่พอใจกับปัญหาของโบอิ้งสุด ๆ สกอตต์ เคอร์บี (Scott Kirby) ซีอีโอของยูไนเต็ด ได้เจรจากับแอร์บัส (Airbus) ทันทีที่ FAA สั่งระงับฝูงบินโบอิ้ง 737 Max 9

ยูไนเต็ดได้สั่งซื้อเครื่องบิน โบอิ้ง 737 Max 10 จำนวน 277 ลำ พร้อมออปชั่นซื้อเพิ่มอีก 200 ลำ แต่หลังจากโบอิ้งเกิดปัญหา ยูไนเต็ดได้หันไปพิจารณาใช้เครื่องบิน A321neo ของแอร์บัส (Airbus) แทน

ด้าน “เอมิเรตส์ แอร์ไลน์ส” (Emirates Airlines) ที่เป็นลูกค้ารายสำคัญของโบอิ้ง ถึงกับว่าจะส่งวิศวกรไปสังเกตการณ์กระบวนการผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 777 ซึ่งเอมิเรตส์มีคำสั่งซื้อรอการส่งมอบอยู่ 95 ลำ

เรื่องแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในอุตสาหกรรมนี้ โดยปกติไม่มีทางที่ผู้ผลิตเครื่องบินจะยอมให้บุคคลภายนอกเข้าไปรู้เห็นกระบวนการทำงาน แต่ในเวลานี้ โบอิ้งไม่น่าจะปฏิเสธลูกค้าได้

ทิม คลาร์ก (Tim Clark) ประธานเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ส กล่าวว่า ที่ผ่านมาเชื่อใจผู้ผลิตมาตลอด แต่ตอนนี้เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่โบอิ้งจะต้องสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในระดับที่ไม่มีใครเทียบได้ และต้องทบทวนกระบวนการผลิตอย่างละเอียด เขาบอกว่านี่เป็น “โอกาสสุดท้าย” ที่โบอิ้งจะฟื้นคืนความเชื่อมั่นที่สูญเสียไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา FAA เผยผลการตรวจสอบโบอิ้ง พบปัญหาอื้อ โดยจากการตรวจสอบ 89 รายการในกระบวนการผลิต ซึ่งใช้เวลาตรวจสอบมา 6 สัปดาห์ พบว่าการผลิตของโบอิ้งผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ 56 รายการ และไม่ผ่านถึง 33 รายการ

ในกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดนี้ ได้มุ่งเป้าตรวจสอบ “สปิริต แอโรซิสเท็มส์” (Spirit AeroSystems) ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ผลิตลำตัวเครื่องบินของโบอิ้งรวม 13 ครั้ง พบว่ามีเพียง 6 ครั้งเท่านั้นผ่านมาตรฐาน และอีก 7 ครั้งที่ไม่ผ่าน

เรื่องที่ทำให้โบอิ้งเสื่อมเสียชื่อเสียงไม่หมดเพียงเท่านั้น เมื่อในวันที่ 12 มีนาคม สื่อรายงานว่า จอห์น บาร์เน็ตต์ (John Barnett) อดีตผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบคุณภาพของโบอิ้ง ซึ่งเคยแจ้งข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาในกระบวนการผลิต ถูกพบว่าเสียชีวิตจากการใช้ปืนยิงตัวเอง ทำให้เกิดความสงสัยว่าการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำนี้เกี่ยวข้องกับการที่เขาเปิดเผยถึงปัญหาของโบอิ้งหรือไม่

นอกจากโดนตรวจสอบอย่างหนักจากหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐแล้ว โบอิ้งก็ถูกจับตามองจากหน่วยงานกำกับดูแลของยุโรปอย่างเข้มข้น แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐและสหภาพยุโรปจะมีข้อตกลง “ยอมรับ” การอนุมัติด้านความปลอดภัยของกันและกันก็ตาม

เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ลุก ไทต์คัต (Luc Tytgat) รักษาการผู้อำนวยการบริหารขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Union Aviation Safety Agency : EASA) ถูกถามว่า พร้อมที่จะ “ไม่ยอมรับ” การรับรองความปลอดภัยของโบอิ้งหรือไม่ หาก FAA ให้การรับรองความปลอดภัยแล้ว เขาตอบว่า “ถ้าจำเป็นก็จะทำ”

ในเมื่อยิ่งตรวจ ยิ่งค้น ยิ่งเจอปัญหาแบบนี้ ก็เป็น “งานหนัก” สำหรับโบอิ้งในการที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา