โรงกลั่นน้ำมัน 121 แห่งทั่วโลกเสี่ยงถูกปิดภายในปี 2030 กำลังผลิตจะหายไป 21.6%

โรงกลั่นน้ำมัน

มีรายงานฉบับใหม่เปิดเผยว่า “โรงกลั่นน้ำมัน” ร้อยกว่าแห่งทั่วโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะ “ถูกปิด” ในไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกำลังการกลั่นกว่า 21.6% ของทั้งโลก

อาจจะเป็นคาดการณ์ที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะในยุคที่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ก็เป็นแนวโน้มปกติธรรมดาที่โรงกลั่นน้ำมันจะมีความสำคัญลดน้อยลงไปอยู่แล้ว แต่ตัวเลขสัดส่วนการกลั่นที่จะหายไป 21.6% ในเวลาเพียง 5-6 ปีนั้นถือว่าสูงจนน่าสนใจ

รายงาน “อัพเดตการปิดโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก” ที่จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน “วู้ด แมกเคนซี” (Wood Mackenzie) ซึ่งทำการประเมินความเสี่ยงของโรงกลั่นน้ำมัน 465 แห่งทั่วโลกพบว่า โรงกลั่นน้ำมัน 121 แห่ง (26.54 % ของ 465 แห่ง) ซึ่งมีกำลังการกลั่นรวม 20.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) หรือคิดเป็น 21.6% ของกำลังการกลั่นน้ำมันทั่วโลกในปี 2023 มีความเสี่ยงที่จะถูกปิดภายในปี 2030

วู้ด แมกเคนซี พิจารณาจากการประมาณการผลกําไรในรูปของเงินสด (Net Cash Margin) ต้นทุนการปล่อยก๊าซคาร์บอน เจ้าของ การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม และมูลค่าเชิงกลยุทธ์ของโรงกลั่น

การวิเคราะห์ดังกล่าวนี้มีข้อค้นพบว่า โรงกลั่นน้ำมันในทวีปยุโรปและในประเทศจีนมีความเสี่ยงที่จะถูกปิดสูงที่สุด ซึ่งทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันประมาณ 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวันเสี่ยงที่จะหายไป โดยมีโรงกลั่นน้ำมันในยุโรป 11 แห่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกปิด

นอกจากนั้น ข้อมูลจาก “คอนคาเว” (Concawe) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมันเผยให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2009 มาจนถึงปีล่าสุด มีโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปปิดตัวไปแล้วประมาณ 30 แห่ง ปัจจุบันยังเหลือเกือบ 90 แห่งที่ยังเปิดดำเนินการอยู่

ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งที่ปิดไปถูกปิดด้วยเหตุผลเรื่องการแข่งขันที่สูงและซับซ้อนขึ้นในตะวันออกกลางและเอเชีย และผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ด้วย

รายงานของ วู้ด แมกเคนซี เผยว่า อัตรากำไรจากการกลั่นน้ำมันจะเริ่มลดลงภายในสิ้นทศวรรษนี้ เนื่องจากความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง ซึ่งในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD – ปัจจุบันมีสมาชิก 38 ประเทศ) ความต้องการเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2025

สำหรับโรงกลั่นในยุโรป ผลกำไรจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีคาร์บอนของสหภาพยุโรป นับตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป อีกทั้งโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปยังมีแรงกดดันจากการที่โรงกลั่นน้ำมันดันโกเต (Dangote) ในประเทศไนจีเรีย เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2023 ซึ่งส่งผลให้การส่งออกน้ำมันเบนซินจากยุโรปไปยังทวีปแอฟริกา ซึ่งทำมาหลายสิบปีต้องสิ้นสุดลงไปโดยปริยาย

ในประเทศจีนจะเห็นดีมานด์น้ำมันสูงสุดในปี 2027 จากนั้นการใช้น้ำมันจะเริ่มลดลง เนื่องจากจีนหันไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)

ทั้งนี้ ในจีนมีโรงกลั่นน้ำมันที่มีความเสี่ยงที่จะถูกปิดสูงสุด 7 แห่ง เป็นโรงกลั่นอิสระขนาดเล็กที่ถูกเรียกว่า “กาน้ำชา” ซึ่งต้องแข่งขันอย่างยากลำบากกับโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่เป็นของรัฐ ภายใต้กฎระเบียบอันเข้มงวด

ส่วนในประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก OECD จะยังคงมีดีมานด์น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังปี 2030 อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นน้ำมันในประเทศเหล่านั้นก็จะได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงทั่วโลก

เอมมา ฟ็อกซ์ (Emma Fox) นักวิเคราะห์อาวุโสด้านตลาดน้ำมันและเคมีของวู้ด แมกเคนซี กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมันอาจสูงขึ้นมากจน “การปิดตัวอาจเป็นทางเลือกเดียว”