ทรัมป์เขย่า “เมดอินไชน่า” บริษัทจีน-ต่างชาติย้ายฐานผลิต

AFP PHOTO/NICHOLAS KAMM

มหากาพย์สงครามการค้าจีนและสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีท่าทีว่าจะยุติความรุนแรงได้เร็ว ๆ นี้ ล่าสุดบริษัทจีนและต่างชาติที่เปิดกิจการในจีนต่างส่งสัญญาณความกังวลชัดขึ้น ตัดสินใจจะย้ายฐานผลิตออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางภาษีจากสงคราม

2 ขั้วอำนาจใหญ่ของโลก

แชนเนลนิวส์เอเชียรายงานว่า กระแสการโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ ผลพวงของสงครามการค้าเริ่มเขย่านโยบาย “เมดอินไชน่า” ของจีน โดยขณะนี้พบว่าทั้งบริษัทต่างชาติและบริษัทจีนหลายรายเตรียมย้ายฐานการผลิตออกจากแดนมังกร เพราะกังวลผลกระทบจากสงครามการค้าที่กำลังลุกลาม

ชาติเป้าหมายที่โดดเด่นตอนนี้ คือ เวียดนาม เม็กซิโก และเซอร์เบีย

สถานการณ์บีบบริษัทต่างชาติต้องย้ายฐานผลิตออกจากจีนตั้งแต่บริษัท Hasbro ผู้ผลิตของเล่นสัญชาติอเมริกัน, “โอลิมปัส” ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูป และแบรนด์รองเท้าชั้นนำจากอเมริกาอย่าง Deckers และ Steve Madden วางแผนเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้กระแสกำลังลุกลามไปยังบริษัทจีนย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ตัวอย่างเช่น บริษัท HI Corp ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่จักรยานรายใหญ่ของจีน กล่าวกับผู้ถือหุ้นเมื่อเดือน ส.ค.ว่าบริษัทตัดสินใจจะย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม เหตุเพราะผลกระทบทางภาษีที่สูงขึ้นจากสงครามการค้า

ก่อนหน้านี้ บริษัท Zhejiang Hailide New Material ผู้ประกอบการด้านสิ่งทอของจีนก็เลือกย้ายฐานผลิตไปประเทศเมียนมา โดยระบุว่า นอกเหนือจากค่าแรงงานในจีนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ผลกระทบจากสงครามการค้าเป็นปัจจัยผลักให้บริษัทต้องกระจายความเสี่ยงให้เร็วที่สุด

รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางรายอื่น ๆ ของจีน เช่น บริษัทผลิตที่นอนที่เข้ามาเปิดโรงงานในไทย ผู้ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าที่ตัดสินใจไปตั้งโรงงานในเม็กซิโก ส่วนบริษัท Linglong Tyre ผู้ผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากมณฑลซานตงเปิดเผยว่า กำลังสร้างโรงงานการผลิตแห่งใหม่ในเซอร์เบีย มูลค่า 994 ล้านดอลลาร์ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากภาษีที่สูงขึ้น

และล่าสุดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นับเป็นเซ็กเตอร์ที่จีนได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าของสหรัฐสูงถึง 16,875 ล้านดอลลาร์ นิกเคอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า บรรดาซัพพลายเออร์ที่สำคัญของแอปเปิล, กูเกิล และอเมซอน ประกาศว่า กำลังวางแผนฉุกเฉินเพื่อย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีนเช่นเดียวกัน

เช่นกรณี “ฟ็อกซ์คอนน์” ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน ที่ผลิตสินค้าให้กับแอปเปิล เช่น MacBooks, iPads และ HomePods ประกาศแผนปรับปรุงโรงงานในเวียดนาม อินเดีย เม็กซิโก และบราซิล และเตรียมย้ายแรงงานจากโรงงานในจีนที่มีมากถึง 650,000 คนไปยังโรงงานอื่นๆ

ขณะที่บริษัท Quanta Computer ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์ไต้หวันอีกรายที่ผลิตแอปเปิล วอตช์ และแมคบุ๊ก ยอมรับว่าได้เตรียมดูฐานผลิตแห่งใหม่

นอกเหนือจากจีนไว้ โดยระบุว่า ผลลัพธ์จากสงครามการค้าคือบาดเจ็บทุกฝ่าย ไม่มีผู้ชนะอย่างแท้จริง ความท้าทายนี้ใหญ่และรุนแรงมาก บริษัทจำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ซึ่งอาจเพิ่มการผลิตในไต้หวันและเยอรมนี อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานผลิตไปสหรัฐฯ จะส่งผลให้ราคาไอโฟนปรับเพิ่มขึ้นอีก 150 ดอลลาร์ต่อเครื่อง

นอกจากนี้ “Inventec” ผู้ผลิตไต้หวันอีกรายที่เป็นฐานผลิต AirPods และ HomePod ให้กับแอปเปิล ระบุว่า กลยุทธ์ระยะสั้นจะเพิ่มสายการผลิตไปที่โรงงานในไต้หวันหรือเม็กซิโกแทน รวมถึง “Compal Electronics” บริษัทไต้หวันผู้ผลิต Apple Watches และ iPads ประกาศจะเพิ่มกำลังการผลิตบางส่วนไปที่โรงงานในเวียดนาม เม็กซิโก และบราซิล

ส่วน “Pegatron” หนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอปเปิล กำลังเร่งปรับปรุงโรงงานการผลิตในประเทศอื่นเช่น สาธารณรัฐเช็ก และเม็กซิโก คาดว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าบริษัทจะเริ่มขนย้ายเครื่องจักรพร้อมเริ่มฝึกอบรมพนักงานในส่วนการผลิตใหม่

นายคริสโตเฟอร์ โรเจอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนและข้อมูลการค้า จากบริษัท Panjiva ในนิวยอร์ก กล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรอบใหม่ เป็นการเติมเชื้อเพลิงให้สงครามรุนแรงขึ้น ซึ่งวันที่ 21 ก.ย.นี้ จีนเตรียมจะขอการอนุมัติจากองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อคว่ำบาตรสหรัฐ หากการเจรจาไกล่เกลี่ยไม่เป็นผล ความไม่แน่นอนของวิกฤตนี้ ทำให้บริษัทที่ได้รับผลกระทบในจีนต้องทบทวนระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกใหม่

“กุ่ย ฟาน” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ China Society of WTO Studies กล่าวถึงผลกระทบต่อจีนเรื่องการว่างงานที่สูงขึ้นอีก ต่อเนื่องจากปัญหาเดิมในเรื่องต้นทุนด้านแรงงานในจีนที่แพงขึ้น

พร้อมคาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศเป้าหมายที่บริษัทในจีนต้องการจะเข้าไปเปิดโรงงานเพื่อลดความเสี่ยง น่าจะอยู่ในเอเชียและแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ เพราะปัจจัยดึงดูดในเรื่องจำนวนแรงงาน

ค่าจ้างแรงงานต่ำ และสิทธิทางภาษี