ขวากหนาม “โมดี” ลุ้นกุมชัยเลือกตั้งสมัย 2

นับถอยหลังเลือกตั้งทั่วไปของ “อินเดีย” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 11 เม.ย.-19 พ.ค. 2019 กับ 2 พรรคที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ พรรคภารติยะ ชนตะ (บีเจพี) ของรัฐบาล กับพรรคอินเดีย เนชั่นแนล คองเกรส ของนายราหุล คานธี

นักวิเคราะห์มองว่า หนทางคว้าชัยชนะของผู้นำสายชาตินิยมฮินดูในสมัยที่ 2 อาจไม่ง่าย แต่ก็มีสิทธิกุมชัยในศึกครั้งนี้อย่างฉิวเฉียดสถาบันบรุ๊กกิ้งส์ ในวอชิงตันสนใจไปที่ “ความยากจนรุนแรง” ว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่จะขวางทางเก้าอี้ผู้นำของนายนเรนทรา โมดี สู่สมัยที่ 2 โดยอินเดียติดโผอันดับที่ 2 ใน 10 ประเทศที่มีคนยากจนมากที่สุดในโลก เป็นรองเพียง “ไนจีเรีย”

ปี 2018 มีชาวอินเดียเกือบ 72 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งนับตั้งแต่ที่โมดีชนะการเลือกตั้งในปี 2014 จนถึงปีสุดท้ายของวาระตำแหน่ง 5 ปี กลายเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่มีผลงาน “ยอดแย่” ในการจัดการปัญหาความยากจนและการว่างงาน ทั้งที่เคยสัญญาว่าจะสร้างงานให้กับคนหนุ่มสาวเดือนละ 1 ล้านคน แต่นายกฯโมดียังไม่เคยทำได้ตามเป้าหมายเลย

“บีบีซี” รายงานว่า มาตรการปรับระบบภาษีสินค้าและบริการ (GST) เมื่อปี 2017 กระทบต่อแรงงานชาวอินเดียในภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากร เพราะภาระภาษีที่สูงขึ้น นำไปสู่ปัญหาหนี้สินที่พอกพูน

นายคาพิล คัล หัวหน้าที่ปรึกษาอุตสาหกรรมในเอเชียใต้ของบริษัทวิจัย CAPA กล่าวว่า งบประมาณของรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากการเก็บภาษี GST ที่แพงขึ้น และนำไปใช้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นนโยบายของนายกฯโมดีที่พยายามสร้างผลงาน

“ท่าอากาศยาน” หนึ่งในโครงการอยู่ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลอินเดียตั้งเป้าทุ่มงบฯเพื่อก่อสร้างสนามบินทั้งหมด 460 แห่ง ภายใต้เป้าหมายเป็น “ฮับการบินโลก” แต่ความเป็นจริงปัจจุบันมีการเปิดใช้สนามบินเพียง 90 แห่ง นักวิเคราะห์ของอินเดียหลายคนมองว่าเป็นนโยบายที่ล้มเหลวของโมดีในการทุ่มเงินสร้างและพัฒนาไม่ถูกจุด จนส่งผลให้มีท่าอากาศยานที่ถูกทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก นั่นไม่ต่างอะไรกับ “การถลุงเงินทิ้งไปแบบไร้ค่า”

นายคาพิลกล่าวว่า สายการบินส่วนใหญ่เลือกที่จะเพิ่มเที่ยวบินไปยังสถานที่ยอดนิยม มากกว่าเพิ่มเส้นทางใหม่ ๆ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สนามบินหลายแห่งไม่มีการเปิดใช้งาน อีกทั้งค่าใช้จ่ายภาษีสนามบินของอินเดียยังไม่เป็นที่ดึงดูดใจธุรกิจการบิน ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง, สัญญาเช่า และค่าบำรุงรักษาสนามบิน อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงที่สุดในโลก

ประเด็น “ความมั่นคง” กับปากีสถานกลายเป็นปัจจัยสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู กล่าวว่า ประชาชนสนใจในประเด็นนี้ เพราะความไม่สงบระหว่างพรมแดนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียในระยะยาว เช่น การลงทุนของต่างชาติ และการท่องเที่ยว

ขณะที่เมื่อวันที่ 27 มี.ค. พรรคฝ่ายค้านรัฐบาลเข้าร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดีย ให้เลื่อนฉายภาพยนตร์เรื่อง “นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี” ที่กำหนดเข้าฉายในวันที่ 5 เม.ย.นี้ โดยอ้างว่าผิดกฎการเลือกตั้ง และเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ขณะที่นักวิจารณ์การเมืองกล่าวว่า ภาพยนตร์เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของโมดี เป็นการกระทำที่น่าละอายของรัฐบาลที่ใช้ความสงสารจากช่วงวัยเด็กของโมดีหวังให้เกิดผลในการเลือกตั้ง

ขณะที่สถาบันวิจัยพิวของสหรัฐอเมริกา เผยผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอินเดียในช่วงโค้งสุดท้าย พบว่า ชาวอินเดียเกินครึ่งราว 54% รู้สึกเชื่อมั่นและพอใจกับนโยบายหาเสียงของนายโมดี

อย่างไรก็ตาม ความนิยมลดลงมากเมื่อเทียบกับการสำรวจในปี 2017 ที่ชาวอินเดียถึง 79% ชื่นชอบและเชื่อมั่นในนโยบายของผู้นำโมดี

นักวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยพิวกล่าวว่า คะแนนนิยมของฝ่ายค้านเริ่มตีตื้นขึ้นมาเรื่อย ๆ เห็นได้จากความพ่ายแพ้ของ “โมดี” ในการเลือกตั้งระดับรัฐที่พ่ายแพ้ให้กับพรรคฝ่ายค้านถึง 3 รัฐ จาก 5 รัฐ ได้แก่ รัฐจัณฑีครห์, รัฐมัธยประเทศ และรัฐราชสถานซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของโมดีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2014 ดังนั้น พรรคชาตินิยมฮินดูของนายโมดีอาจจะไม่ได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จตามคาด