เกาหลีใต้จุดกระแส “แบนสินค้าญี่ปุ่น” สุมไฟ “สงครามการค้า” คู่ใหม่

South Korean merchants step on boxes bearing logos of Japanese products during a rally to declare a boycott of Japanese goods in Seoul, South Korea, July 5, 2019. Yonhap via REUTERS

นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดูเหมือนจะแตกร้าวมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลโตเกียวสั่งคุมเข้มการส่งออกวัตถุดิบไฮเทคที่สำคัญ 3 ชนิด ซึ่งเกาหลีใต้ต้องพึ่งญี่ปุ่นในสัดส่วนสูงถึง 90% ขณะที่กระแสโจมตีในโลกโซเชียลของโสมขาว ที่เรียกร้องให้ “แบนสินค้าญี่ปุ่น” กำลังกระพือเป็นวงกว้าง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นยกระดับมาตรการเข้มงวดสำหรับการส่งออกวัตถุดิบ 3 ชนิด ได้แก่ ไฮโดรเจนฟลูออไรด์ ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์, ฟลูออริเนต โพลีไอไมด์ วัตถุดิบสำหรับผลิตจอแสดงผล และสารโฟโตไลซิส ใช้ในการผลิตชิปหน่วยความจำในสมาร์ทโฟน

สมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้กล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า “ไฮโดรเจนฟลูออไรด์” พบว่ายังมีประเทศอื่นที่ผลิตสารดังกล่าว ได้แก่ จีน ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งเกาหลีใต้อาจนำเข้าจากประเทศเหล่านี้แทน แต่สำหรับวัตถุดิบอีก 2 ตัว เกาหลีใต้ยังต้องพึ่งพาญี่ปุ่นเพราะเป็นประเทศที่ผลิตสารเหล่านั้นมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยที่ผ่านมาเกาหลีใต้มีการนำเข้าจากญี่ปุ่นกว่า 90% อย่างไรก็ตาม ทางการเกาหลีใต้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้วัตถุดิบอื่นทดแทน

เจแปนไทมส์ระบุว่า แม้ว่าเกาหลีใต้จะสามารถหาวัตถุดิบทดแทนได้ 1 ใน 3 วัตถุดิบสำคัญที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น แต่ด้วยมาตรการที่เข้มงวดขึ้นของญี่ปุ่นทำให้กระบวนการส่งออกต้องใช้เวลามากขึ้นอีกประมาณ 90 วัน ขณะที่สต๊อกวัตถุดิบเหล่านี้ของบริษัทเทคโนโลยีเกาหลีอาจไม่เพียงพอต่อการผลิตในระยะข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนและอื่น ๆ ของเกาหลีใต้ในระยะสั้น คาดว่าจะกระทบบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง ซัมซุง แอลจี และเอสเคไฮนิกซ์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมกันราว 20% ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้

ขณะที่ยังไม่มีมาตรการตอบโต้ที่ชัดเจนจากรัฐบาลโซล นอกจากคำขู่เรื่อง “การแซงก์ชั่น” บางธุรกิจของญี่ปุ่นในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียของโสมขาว เพื่อเรียกร้องให้ “แบน” สินค้าหลายประเภทจากญี่ปุ่น 

“เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” ระบุว่า ชาวเกาหลีใต้คาดหวังว่ากระแสแบนในโซเชียลจะช่วยเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลทำการตอบโต้ญี่ปุ่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

โดยผู้สนับสนุนการแบนสินค้าญี่ปุ่นจำนวนหลายหมื่นคนได้ลงนามในคำร้องบนเว็บไซต์สำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เรียกร้องให้โจมตีสินค้าส่งออกหลัก ๆ ของญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้ ได้แก่ รถยนต์, เครื่องสำอาง, เบียร์, แบรนด์เสื้อผ้ายอดนิยมของญี่ปุ่น เช่น ยูนิโคล ทั้งร่วมกันโพสต์ข้อความติดแฮชแท็ก “Boycott Japan” ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อยกเลิกการไปเที่ยวในญี่ปุ่น ลามไปถึงอุตสาหกรรมบันเทิง ด้วยการกดดันให้ศิลปินในหลายวงที่มีสมาชิกเป็นชาวญี่ปุ่น เช่น TWICE, IZ*ONE, NCT 127, Pentagon และ GWSN ให้ลาออกจากสมาชิกของวง

“เจทีบี” ตัวแทนการท่องเที่ยวรายใหญ่ของญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า กระแสต่อต้านในโซเชียลกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น โดยในปีที่ผ่านมามีชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นราว 7.5 ล้านคน และใช้จ่ายราว ๆ 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกาหลีใต้ติดท็อป 5 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นของแต่ละปี ทั้งระบุว่า “ผลกระทบจากการต่อต้านบนโซเชียลเป็นหายนะในยุคนี้ และจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในทางอ้อม”

รายงานข่าวยังระบุว่า ปี 2018 เกาหลีใต้นำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นประมาณ 40,000 คัน กระแสการคว่ำบาตรรถยนต์ญี่ปุ่นจะสร้างความกังวลอย่างมากต่อค่ายรถญี่ปุ่น โดยเฉพาะโตโยต้า และมิตซูบิชิ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในโสมขาว ทั้งยังมีการติดแฮชแท็กกล่าวถึงมากที่สุดด้วย

เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการรายหนึ่งของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ โคเรีย กล่าวเพียงว่า “การต่อต้านในโซเชียลมีเดียอาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ในช่วงนี้ ซึ่งบริษัทต้องประเมินถานการณ์อย่างใกล้ชิด หรือใช้แคมเปญจูงใจการซื้อ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอีกหลายอย่างที่เป็นเหยื่อในการล้างแค้นทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ได้แก่ เบียร์คิริน, เบียร์อาซาฮี, พานาโซนิค, คาเนโบ คอสเมติกส์, เอสเคทู, ชิเซโด และรองเท้าเอสิกส์ ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าของญี่ปุ่นที่ถูกติดแฮชแท็กเรียกร้องให้บอยคอตมากที่สุด

“มาคิโกะ ทาคาฮาชิ” โฆษกหญิงของคาเนโบ คอสเมติกส์ แสดงความเห็นว่า เกาหลีใต้เป็นอีกตลาดเครื่องสำอางที่สำคัญของญี่ปุ่น กระแสบอยคอตที่รุนแรงขึ้น อาจทำให้ยอดขายของบริษัทลดลงในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบจะไม่ขยายเป็นวงกว้างเพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนอายุน้อย ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางประวัติศาสตร์ หรือการเมืองน้อยกว่าคนรุ่นเก่า

ขณะที่ “อาสึชิ โอซาไน” ศาสตราจารย์ประจำวิชาการตลาดระหว่างประเทศ โรงเรียนธุรกิจวาเซดะ กล่าวว่า ความรุนแรงของปมความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้กำลังยกระดับขึ้น หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เกาหลีใต้เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาการแซงก์ชั่นญี่ปุ่นเพื่อตอบโต้ รวมถึงเตรียมจะยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO)

พร้อมทั้งชี้ว่า ประเด็นของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีความคล้ายคลึงกับกรณีของ “หัวเว่ยและสหรัฐ” ในแง่ผลกระทบ ซึ่งต่างก็สะบักสะบอมพอกันจนต้องจับมือสงบศึกชั่วคราวเมื่อเร็ว ๆ นี้

“เกาหลีใต้และญี่ปุ่น” ควรศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดีกว่าสุมไฟให้ลุกลามเพราะอาจจะสายเกินแก้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!