“แบรนด์หรูอังกฤษ” เจอศึกหนัก พิษสหรัฐขึ้นภาษีสินค้ายุโรป

มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาต่อสินค้านำเข้าจาก สหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้แล้ว ชนวนเหตุมาจากข้อพิพาทเรื่องการสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่าย

ส่งผลให้สินค้านำเข้าจากยุโรปมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แบ่งเป็นปรับขึ้นภาษี 10% สำหรับการนำเข้าเครื่องบินแอร์บัส และปรับเพิ่ม 25% สำหรับสินค้าหลายประเภททั้งอาหารและเครื่องนุ่งห่มที่นำเข้าจากอียู โดยกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกันเป็นรายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าฟุ่มเฟือยของยุโรปโดยตรง

และผู้ผลิตสินค้าหรูที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หนีไม่พ้น สหราชอาณาจักร (ยูเค) เพราะเป็นประเทศเดียวที่ถูกจัดเก็บภาษีสินค้าหรู ได้แก่ วิสกี้ เครื่องแต่งกายแฟชั่น และชุดเครื่องนอน และยังถูกเก็บภาษีสินค้าอีกหลายชนิดร่วมกับประเทศอื่น อย่าง เหล้า ไวน์ และชีส ตามข้อมูลของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สหรัฐเป็นตลาดสินค้าหรูใหญ่ที่สุดของอังกฤษนอกยุโรป โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าหรูไปสหรัฐถึง 23% หรือราว 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ในจำนวนนี้สินค้าหรูอย่าง เสื้อขนสัตว์ เสื้อสเวตเตอร์ และชุดสูทสั่งตัด เป็นสินค้าส่งออกหลักของยูเคไปยังสหรัฐ

“วอลโพล” (Walpole) หน่วยงานตัวแทนผู้ผลิตสินค้าแบรนด์หรูของยูเค ยกตัวอย่างสินค้าได้รับผลกระทบทำให้ราคาสูงขึ้นทันที เช่น ชุดสูทสั่งตัดจากย่านถนนซาวิลโรว์ (Savile Row) ในกรุงลอนดอน ไปจนถึงวิสกี้และเสื้อขนสัตว์จากสกอตแลนด์

“แคทรีน ซาร์เจนต์” เจ้าของร้านตัดเสื้อย่านซาวิลโรว์ระบุว่า ภาษี 25% ทำให้ราคาชุดสูทสั่งตัดในร้านของเธอ มีราคาสูงขึ้นอย่างน้อย 1,625 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อยากขึ้น และอาจสูญเสียลูกค้าบางกลุ่มไป

ขณะที่ “อดัม แมนเซลล์” ซีอีโอของสมาคมแฟชั่นและสิ่งทอแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า ภาษีใหม่นี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งออกสำหรับเสื้อถักขนแกะ ชุดสูท ชุดนอน ชุดว่ายน้ำ และผ้าลินิน เพิ่มขึ้นราว 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ยูเคเป็นประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าจากสหรัฐสำหรับสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจเสียเปรียบมหาศาลต่อคู่แข่งในยุโรป” แมนเซลล์กล่าวพร้อมทั้งระบุว่า “เราจะเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อการจัดเก็บภาษีเหล่านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากข้อพิพาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของเรา”

นอกจากยูเคจะเผชิญกับภาษีสหรัฐที่สูงขึ้นแล้ว ความไม่แน่นอนทางการเมืองของยูเค โดยเฉพาะการถอนตัวออกจากอียู หรือ “เบร็กซิต” ยังซ้ำเติมความกังวลเรื่องความอยู่รอดของภาคธุรกิจ

ข้อมูลของวอลโพลชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมสินค้าหรูของยูเค มีอัตราการเติบโตถึง 49% ในช่วงระหว่างปี 2013-2017 ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้มีแรงงานทักษะสูงอยู่เกือบ 160,000 คน ดังนั้น หากมีการถอนตัวออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลงก็อาจสร้างความเสียหายต่อธุรกิจสินค้าหรูสูถึง 8,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกจะสะดุดลง ขณะที่การจ้างงานก็จะลดลงด้วย

และไม่ว่ายูเคจะสามารถเจรจาเบร็กซิตได้สำเร็จแบบมีข้อตกลงหรือไร้ข้อตกลงก็ตาม ยูเคยังต้องเผชิญหน้ากับเพื่อนบ้านในยุโรปในฐานะคู่แข่งอย่างดุเดือดยิ่งกว่าเดิม โดยที่มาตรการทางภาษีของสหรัฐจะยังคงผูกพันยูเค แม้จะออกจากอียูแล้วก็ตาม

“เฮเลน บร็อกเคิลแบงก์” ซีอีโอของวอลโพลระบุว่า ทั้งยูเค อียู และสหรัฐ จะต้องร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค

ขณะที่วอลโพล ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรพันธมิตรอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์แห่งยุโรป (อีซีซีไอเอ) จะมีการจัดแสดงสินค้าหรูเพื่อรักษาฐานลูกค้าในสหรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องความเสียหายต่อธุรกิจสินค้าหรูของยูเค ส่วนภาคธุรกิจเองก็ต้องทำงานอย่างหนักในการรักษาฐานลูกค้าในสหรัฐ

“เราจะเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่า ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของอังกฤษที่งดงาม เป็นงานฝีมือ และมีคุณภาพสูง” บร็อกเคิลแบงก์กล่าว

นอกจากนี้ บร็อกเคิลแบงก์ยังระบุว่า ยูเคควรหันมาเน้นการดึงดูดลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าในประเทศมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมการขายสินค้าหรูในโรงแรมอย่าง โรงแรมเดอะ ซาวอย (The Savoy), โครินเทีย (Corinthia) และเบลมอนด์ (Belmond) ที่มีการจำหน่ายสินค้าหรูภายในโรงแรม

เพราะจากการสำรวจของวอลโพลร่วมกับฟรอนเทียร์ อีโคโนมิกส์ (Frontier Economics) พบว่า ในปี 2017 การขายสินค้าหรูให้กับลูกค้าที่ไม่ได้มีที่พักอาศัยในยูเค มีมูลค่าสูงถึง 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มลูกค้าชาวจีน ชาวอเมริกัน และชาวอาหรับ เป็นลูกค้าอันดับต้น ๆ ดังนั้น “ถ้าไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ เราก็จะนำเข้าผู้บริโภคแทน” บร็อกเคิลแบงก์ทิ้งท้าย