ทำความรู้จัก Carousell “ยูนิคอร์น” ล่าสุดของอาเซียน

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “คารูเซลล์” (Carousell) แพลตฟอร์มซื้อและขายสินค้าออนไลน์สัญชาติสิงคโปร์ ได้กลายเป็น “ยูนิคอร์น” หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายล่าสุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“คึก ซิว รุย” ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอของคารูเซลล์กล่าวว่า พวกเราเชื่อว่าเทรนด์ของผู้คนในการปรับตัวใช้งานบริการต่าง ๆ ด้านดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสดีสำหรับบริษัทในการทุ่มสุดตัวไปกับธุรกิจ “รีคอมเมิร์ซ” (recommerce) ที่จะมุ่งเน้นความสะดวกสบาย และความเชื่อใจ เพื่อขยายตัวธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป

ทั้งนี้ “รีคอมเมิร์ซ” คือแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อ-ขายสินค้า “มือสอง” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก และขยายตัวอย่างรวดเร็ว

โดยมีหลายปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจรีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเทรนด์ “รักษ์โลก” ให้ความสำคัญกับการลดสร้างขยะ ทำให้คนหันไปเน้นการขายสินค้ามือสองที่ไม่ได้ใช้งาน แทนการทิ้งขว้างไว้เฉย ๆ รวมถึงมีผู้บริโภคที่สนใจไปซื้อสินค้ามือสอง เพื่อลดการสร้างขยะบนโลก

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคบางคนต้องการ ประสบการณ์มากกว่าความเป็นเจ้าของ ซื้อสินค้าที่เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละโอกาส มากกว่าการลงทุนซื้อสินค้าที่ใช้แค่ครั้งเดียว รวมถึงเป็นทางเลือกการซื้อสินค้าที่ถูกกว่ามือหนึ่ง

โดยบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล “โกลบอล ดาต้า” คาดการณ์ว่า ตลาดรีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่าสูงถึง 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “คารูเซลล์” เริ่มขึ้นจากผู้ก่อตั้งบริษัท 3 คน ได้แก่ “คึก ซิว รุย”, “มาร์คุส ทัน” และ “ลูคัส นู” ที่ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ซิลิคอนวัลเลย์เมื่อปี 2012 ซึ่งทั้ง 3 คนชื่นชอบการช็อปปิ้งออนไลน์ และมีสินค้าที่ไม่ได้ใช้งานเต็มห้องพัก

และเมื่อพวกเขาจะนำสินค้าใช้แล้วไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็พบว่า มีกระบวนการที่ยุ่งยากและเสียเวลา ทั้ง 3 คนจึงเกิดไอเดียสร้างแพลตฟอร์มขายของมือสองออนไลน์ และหลังจากกลับมาที่ประเทศสิงคโปร์ ก็ได้นำไอเดียมาพัฒนาต่ออย่างจริงจัง ซึ่งในตอนแรกเริ่มจากหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

“คึก ซิว รุย” ระบุว่า ถึงแม้ส่วนตัวจะชื่นชอบ “เครกลิสต์” (Craigslist) และ “อีเบย์” (Ebay) แพลตฟอร์มรีคอมเมิร์ซชื่อดังของโลกที่พวกเขาใช้สำหรับการขายของมือสองตอนที่อยู่สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม รู้สึกว่าไม่สะดวก รวมถึงมองว่าตีตลาดไม่เข้าถึงชาวเอเชีย

ดังนั้น ตอนที่สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา จึงได้พยายามปรับประยุกต์ให้เข้ากับพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของคนเอเชียมากที่สุด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้ชีวิตอยู่กับสมาร์ทโฟนมากกว่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก จึงได้พัฒนาออกมาเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นแอปพลิเคชั่น

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเช่น เอไอ และแมชีนเลิร์นนิ่ง เพื่อช่วยติดตั้งระบบ จัดหมวดหมู่สินค้าให้เร็วกว่าแพลตฟอร์มรีคอมเมิร์ซรายอื่น ๆ

ทั้งนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งได้รับเงินลงทุนจากมหาวิทยาลัย จำนวน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการก่อตั้งกิจการ และหลังจากนั้นก็ได้ระดมทุนจากนักลงทุนรายใหญ่จำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นจาก “ราคุเทน”, “โกลเด้น เกต เวนเจอร์ส”, “500 สตาร์ตอัพส์” รวมถึง “ซีคัส แคปิตอล อินเดีย” และ “เนเวอร์” ซึ่งบริษัทแม่ของแอปพลิเคชั่น “ไลน์”

นอกจากนี้ยังเคยถูกเสนอขอซื้อกิจการจากนักลงทุนในมูลค่าสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ผู้ร่วมก่อตั้งต่างปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากมองว่าอนาคตของคารูเซลล์ยังคงไปต่อได้อีกไกล ประกอบกับความรักในการทำธุรกิจนี้

โดยหลังจากการพัฒนาแพลตฟอร์มก็ได้เปิดบริการในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และฟิลิปปินส์ โดยเมื่อปีงบประมาณ 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่มี
การเผยแพร่ล่าสุด ทำรายได้มูลค่าสูงถึง 15.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การระดมทุนรอบล่าสุด นำโดย “เอสทีไอซี อินเวสต์เมนต์” บริษัทไพรเวตอีควิตี้ชั้นนำของเกาหลีใต้ ได้เงินมากถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้บริษัทคารูเซลล์มีมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ และกลายเป็นสตาร์ตอัพที่ขึ้นแท่นเป็น “ยูนิคอร์น” ในที่สุด

รายงานข่าวระบุว่า นักวิเคราะห์ต่างมองว่า คารูเซลล์จะยังคงสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงนี้ซึ่งโควิด-19 ยังระบาดหนักตามประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้ผู้คนยังคงต้องซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

นอกจากนี้ ช่วงโควิด-19 ซึ่งได้ทำให้กำลังซื้อลดลง รวมถึงเทรนด์ที่ผู้คนขายของที่ไม่ได้ใช้แล้วเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้คารูเซลล์ได้รับอานิสงส์เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน