น้ำมันสำรอง “เอาไม่อยู่” ราคาพุ่งต่อ-ตลาดรอดูท่าทีโอเปก

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากถูก “โอเปก” กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ปฏิเสธคำร้องขอให้เพิ่มการผลิตออกสู่ตลาดโลกเพื่อชะลอราคาน้ำมันที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็ว

ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐก็ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลสหรัฐจะปล่อยน้ำมันในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ออกสู่ตลาด 50 ล้านบาร์เรล ขณะที่ชาติพันธมิตรชุดแรก อินเดีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และเกาหลีใต้ ก็จะปล่อยน้ำมันสำรองของประเทศออกมาร่วมด้วยตามที่เจรจากันไว้

ปฏิบัติการของสหรัฐ เป็นไปตามคำขู่ก่อนหน้านี้ที่ว่าหากโอเปกยังเพิกเฉยไม่ยอมเพิ่มการผลิต สหรัฐก็พร้อมจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ตอบโต้

ก่อนหน้านี้สหรัฐและพันธมิตรได้ร้องขอโอเปกหลายครั้งให้พิจารณาเพิ่มการผลิต หลังจากราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นเกิน 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งสหรัฐเกรงว่าจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและโลก แต่ในการประชุมล่าสุดเมื่อต้นเดือน พ.ย. ทางโอเปกมีมติผลิตเพิ่มวันละ 4 แสนบาร์เรลตามเดิมไปจนถึงสิ้นปีนี้

ณ วันที่ 19 พ.ย. น้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอยู่ที่ 604.5 ล้านบาร์เรล คาดว่าหลังจากรัฐบาลประกาศ 13 วัน น้ำมันจะออกสู่ตลาดได้ ซึ่งทันทีที่ประกาศ ทำให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสของสหรัฐวันเดียวกันปรับลง 1.9% ลงไปต่ำสุดที่ 75.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หลังจากนั้นในวันเดียวกันราคาก็ดีดกลับมา 2.5% อยู่ที่ 78.67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 3.2% อยู่ที่ 82.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ถึงแม้ปริมาณน้ำมันสำรองที่สหรัฐปล่อยออกมาจะมากกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีเพียง 35 ล้านบาร์เรล แต่กลับไม่สามารถชะลอราคาน้ำมัน เป็นเพราะมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องซึ่งจะทำให้ตลาดน้ำมันมีความผันผวนต่อไป

“ร็อบ ฮาเวิร์ท” นักกลยุทธ์ลงทุนของยูเอส แบงก์ เวลท์ แมเนจเมนต์ ให้เหตุผลว่า รายละเอียดของแผนการใช้น้ำมันสำรองอาจไปลดทอนผลกระทบต่อตลาดจนไม่สามารถกดราคาน้ำมันลง เพราะตามระเบียบหากมีการนำน้ำมันจากคลังสำรองไปใช้เท่าใด ก็จะต้องนำมาเติมให้เท่าเดิมภายใน 1-3 ปี

นอกจากนี้ ตลาดยังรอดูด้วยว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเป็นอย่างไร ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลด้านการขนส่ง รวมทั้งจำนวนผู้ใช้บริการเครื่องบินจะเห็นว่าความต้องการใช้น้ำมันยังมีสูงและแข็งแกร่ง ส่วนประเด็นระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในยุโรป จนหลายประเทศต้องล็อกดาวน์หรือเข้มงวดการเดินทาง ไม่น่าจะมีผลต่อความต้องการใช้น้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับคาดการณ์ปล่อยน้ำมันสำรองของชาติอื่น ๆ ตามการประเมินของนักวิเคราะห์จากอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ต ระบุว่า อินเดียประกาศว่าจะปล่อย 5 ล้านบาร์เรล ญี่ปุ่น 4 ล้านบาร์เรล ส่วนจีน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร คาดว่าจะปล่อยออกมารวมกัน65-70 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดยังไม่ค่อยเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากจีนเต็มที่ นอกจากนี้ตลาดยังรอดูว่ากลุ่มโอเปกจะตอบโต้อย่างไร

ในความเห็นของนักวิเคราะห์ ปฏิกิริยาจากกลุ่มโอเปก เป็นสิ่งที่ตลาดจับตามากที่สุดเพราะคาดเดาไม่ได้ เพราะโอเปกเคยขู่ว่าถ้าสหรัฐและพันธมิตรปล่อยน้ำมันสำรองออกมา จะตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิตในระดับเดียวกัน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากปฏิบัติการของสหรัฐและพันธมิตร สามารถกดดันราคาน้ำมันให้ต่ำกว่าราคาต่ำสุดของสัปดาห์ก่อน มีความเป็นไปได้ที่โอเปกอาจทบทวนจุดยืนในการประชุมวันที่ 2 ธ.ค.นี้ แต่เมื่อปรากฏว่าราคากลับปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นเงื่อนไขให้โอเปกสามารถอยู่นิ่ง ๆ และรอดูสถานการณ์ไปก่อน

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้อีกเช่นกัน ที่ซาอุดีอาระเบียในฐานะผู้นำกลุ่มโอเปก อาจเรียกร้องให้สมาชิกลดกำลังการผลิตเพื่อตอบโต้ แต่ประเทศรอบอ่าวหลายประเทศที่เป็นสมาชิกและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ อาจคัดค้านแนวคิดนี้

ในแง่การเมือง การที่ “โจ ไบเดน” สามารถดึงจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมัน 4 รายใหญ่สุดของโลกร่วมมือในครั้งนี้ จะส่งผลเสียต่อซาอุฯที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพันธมิตรชิดใกล้ของสหรัฐในตะวันออกกลางอย่างมาก และจะเพิ่มความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น