ป้อมปราการ เศรษฐกิจรัสเซีย ทนทานการ “แซงก์ชั่น” แค่ไหน

รัสเซีย
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากรัสเซียไม่ยอมหยุดแค่การยึด 2 แคว้นทางตะวันออกของยูเครน แต่ยังเดินหน้าเพื่อบุกยึดเมืองหลวงของยูเครน ทางสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้เพิ่มการแซงก์ชั่นรัสเซียอีกหลายระลอกในระดับและขอบเขตที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป้าหมายก็เพื่อเล่นงานระบบการเงินของรัสเซียให้เป็นอัมพาต ทำลายเศรษฐกิจให้ย่อยยับ

แม้ผู้นำยูเครนจะวิงวอนสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ยูเครนเป็นเขตห้ามบินเพื่อป้องกันรัสเซียไม่ให้โจมตีทางอากาศ แต่สหรัฐไม่สามารถทำตามคำขอนั้น เนื่องจากการจะบังคับให้เป็นเขตห้ามบินหมายถึงสหรัฐต้องส่งกำลังทหารเข้าไปในยูเครน อันจะกลายเป็นว่าสหรัฐเข้าเป็นคู่ขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรง ที่สำคัญกว่านั้นมันหมายถึงแนวโน้มจะเกิดสงครามโลก

วิธีที่ชอบธรรมกว่า ดูศิวิไลซ์กว่าการใช้กระบอกปืนและรถถังก็คือ ทำลายเศรษฐกิจรัสเซีย

รัสเซียเองก็ทราบเป็นอย่างดีว่าจะเผชิญกับการแซงก์ชั่นขนานใหญ่หากรุกรานยูเครน ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่รัสเซียผนวกไครเมีย ดินแดนทางตอนใต้ของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 2014 ก็ถูกสหรัฐและยุโรปแซงก์ชั่นในระดับหนึ่งมาโดยตลอดอยู่แล้ว ซึ่งรัสเซียก็ได้เตรียมการรับมือด้วยการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศให้มากที่สุด เพื่อรับมือการแซงก์ชั่นระลอกใหม่

“เดวิด ลูบิน” นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้กรุ๊ประบุว่า การจะสร้างป้อมปราการทางเศรษฐกิจเพื่อเอาไว้ใช้ในยามถูกแซงก์ชั่น จะต้องมีการสะสมเงินตราต่างประเทศก้อนใหญ่เอาไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งจะเห็นว่ารัสเซียดำเนินการตามแนวทางนี้มาโดยตลอด ทุนสำรองดังกล่าวส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้พยุงค่าเงินรูเบิลที่ร่วงลงอย่างรุนแรงกว่า 30% ภายหลังถูกแซงก์ชั่นระลอกใหญ่อยู่ในขณะนี้

ปัจจุบันรัสเซียมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 6.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับส่วนใหญ่ของประเทศในโลกนี้ แต่ขณะเดียวกัน ความพยายามของประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” ที่จะเพิ่มการสะสมเงินแผ่นดินเพื่อเอาไว้ใช้ทำสงคราม (war chest) นับจากผนวกไครเมีย ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียแทบไม่เติบโตเลยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014

ประชาชนยากจนลงเพราะรัฐบาลใช้นโยบายรัดเข็มขัด ประหยัดการใช้จ่าย ลงทุนน้อย ให้ความสำคัญกับบริษัทรัฐมากกว่าบริษัทเอกชน productivity ของประเทศแทบไม่เพิ่มขึ้น เงินลงทุนโดยตรงใหม่ ๆ จากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ก็เข้ามาน้อยมาก ประกอบกับรัสเซียไม่สามารถกระจายรายได้ของประเทศไปจากก๊าซและน้ำมัน ทำให้นับจากปี ค.ศ. 2014 มูลค่าเศรษฐกิจของรัสเซียหายไป 8 แสนล้านดอลลาร์

อเมริกาและพันธมิตรรู้ทันเช่นกันว่ารัสเซียจะใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการถูกแซงก์ชั่น ดังนั้น นอกจากจะตัดธนาคารรัสเซียจำนวนหนึ่งออกจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศที่เรียกว่า SWIFT แล้ว แถลงการณ์ของสหภาพยุโรปยังขู่ว่าจะป้องกันไม่ให้ธนาคารกลางรัสเซียสามารถนำทุนสำรองไปอุ้มค่าเงินรูเบิล มาตรการนี้จะทำให้สินทรัพย์ของธนาคารกลางรัสเซียเป็นอัมพาตทันที

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐ ที่กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า การที่รัสเซียคิดว่าจะสามารถป้องกันตัวเองจากการถูกแซงก์ชั่นเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะทุนสำรองกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ของรัสเซียจะมีประโยชน์ต่อเมื่อปูตินสามารถใช้มันได้

อิทธิฤทธิ์ของการแซงก์ชั่นกดดันให้ธนาคารกลางรัสเซียประกาศขึ้นดอกเบี้ยพรวดพราดจาก 9.5% เป็น 20% หรือเพิ่มขึ้น 10.5% เพื่ออุ้มค่าเงินรูเบิลและจูงใจไม่ให้คนถอนเงินออกจากธนาคาร รวมทั้งสั่งให้ผู้ส่งออกต้องขายเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมาถึง 80% ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชาวรัสเซียต่อแถวยาวเหยียดเพื่อถอนเงินสดจากเอทีเอ็ม ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะแบงก์รัน หรือภาวะที่ผู้ฝากเงินเชื่อว่าแบงก์จะล้มจึงแห่ไปถอนเงิน

“เลียม พีช” นักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ชี้ว่า ธนาคารต่าง ๆ ของรัสเซียอาจถูกบังคับให้ขายในสินทรัพย์ราคาถูก สินเชื่ออาจขาดแคลนทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก การแซงก์ชั่นจากซีกตะวันตกทำให้ธนาคารต่าง ๆ ของรัสเซียเข้าใกล้วิกฤต

แม้รัสเซียจะมีพลังอำนาจทางทหารและอาวุธสูงอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเป็นเรื่องของเศรษฐกิจรัสเซียกลับอยู่อันดับ 12 ของโลก (ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) มีขนาดจีดีพีเพียง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ น้อยกว่าอิตาลี 25% น้อยกว่าแคนาดา 20% ทั้งที่ประชากรของสองประเทศนี้รวมกันมีขนาดแค่เสี้ยวเดียวของประชากรรัสเซีย