“ฟาสต์ฟู้ด” บุกหนักตลาดเอเชีย ชาติกำลังพัฒนาเสี่ยง “ป่วยก่อนรวย”

หนึ่งในนโยบายการบริหารประเทศคือ “ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน” โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่พยายามยกระดับความยากจนสู่ความมั่งคั่ง ด้วยการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างไร้ขีดจำกัดในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงแบรนด์ “ฟาสต์ฟู้ด” และ “อาหารแปรรูป” ที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อตอบสนองดีมานด์ของกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากขึ้น

ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าประเทศในเอเชียยังไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่กำลังส่งสัญญาณเตือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม รายงานว่า หนึ่งในชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของยุคสมัยในการวัดคุณค่าทางเศรษฐกิจ ก็คือความอุดมสมบูรณ์ของคนในประเทศ อันนำมาสู่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งคำจำกัดความของ “ความอุดมสมบูรณ์” ไม่ได้หมายถึงรายได้และความร่ำรวยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึง “อาหารการกิน” ของประชาชนด้วย

ปัญหา “โรคอ้วน” เป็นสิ่งที่ถูกผูกติดกับประเทศพัฒนาแล้วมานาน โดยเฉพาะโลกตะวันตกอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ที่ถูกมองว่าเป็นต้นตอของแทบทุกปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน ทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม และลัทธิบริโภคนิยม รวมถึงค่านิยมการอยู่กับบ้าน ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว

5 ปีก่อน สหรัฐมีการรณรงค์อย่างจริงจังเรื่องโรคอ้วน ทำให้ปัจจุบันชาวอเมริกันได้ลงจากบัลลังก์ประเทศที่มีคนอ้วนมากที่สุดในโลกไปแล้ว และปี 2014 พบว่า “เม็กซิโก” ประเทศเพื่อนบ้าน ที่รับเอาวัฒนธรรมอเมริกันเข้าไปเกือบ 100% ขึ้นครองตำแหน่งประเทศที่มีคนอ้วนอันดับหนึ่งของโลกแทน ตามมาด้วย สหรัฐ, นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น

ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจล่าสุดของปี 2017 พบว่า ประเทศ TOP 5 กลายเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อันดับหนึ่งได้แก่ คูเวต 2.ซาอุดีอาระเบีย 3.เบลีซ4.อียิปต์ และ 5.จอร์แดน ส่วนสหรัฐหล่นไปอยู่อันดับที่ 10

นักวิเคราะห์กล่าวว่า นัยสำคัญของผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนว่า “โรคอ้วน” กำลังลดลงในประเทศที่มีรายได้สูง และเร่งขยายตัวที่อื่น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและมีรายได้ปานกลาง เช่น ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ละตินอเมริกา และในเอเชีย-แปซิฟิกที่กำลังเป็นภูมิภาคโดดเด่นสำหรับนักลงทุน เนื่องด้วยจำนวนประชากรและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และเวิลด์แบงก์ระบุว่า ในปี 2016 เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ครึ่งหนึ่งของโลก และ 1 ใน 4 อยู่ในแอฟริกา โดยมีปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาสู่ “สังคมเมือง” มากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ความต้องการของชีวิตสังคมเมืองเปลี่ยนไป

ผลสำรวจจากสถาบันอาหารแห่งชาติของอินเดียระบุว่า ในปี 2016 เกือบ 2 ใน 4 ของชาวเมือง หรือกลุ่มวัยทำงานที่มีกำลังซื้อมากขึ้น มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ โดยเฉพาะในนครมุมไบและนิวเดลี เมืองเศรษฐกิจและมีกลุ่มคนรายได้ปานกลางสูง สาเหตุหลักก็คือ พฤติกรรมที่นิยมทานอาหารแปรรูปมากขึ้น

ขณะที่ฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ดังแห่เข้าลงทุนอยู่ทั่วประเทศจีน และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนหนุ่มสาวเปลี่ยนไปมาก ทุ่มเวลาไปกับการทำงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง และเข้าสู่ลัทธิบริโภคนิยมหลังเลิกงาน

“ผลสำรวจด้านโภชนาการในเอเชียสะท้อนว่า กลุ่มผู้มีกำลังซื้อส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการทำงานในออฟฟิศ 8 ชั่วโมง และออกกำลังกายเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น เวลาว่างของคนกลุ่มนี้หมดไปกับการดูภาพยนตร์และวิดีโอเกม รวมถึงสนุกกับรับประทานที่ไม่ใช่อาหารดั้งเดิมของตน” ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยจาก WHO กล่าว

ความเป็นไปได้ที่น่ากลัวของแนวโน้มเหล่านี้ และเชื่อว่าจะเกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปี 2018 และอาจลากไปถึงปี 2020 หรือ 2025 หมายความว่าประชาชนประเทศกำลังพัฒนาอาจ “ป่วยก่อนที่จะรวย” และความเจ็บป่วยจะทำให้ไม่สามารถทำงานได้เช่นเคย โดยปีที่ผ่านมา ต้นทุนการดูแลสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวานและโรคหัวใจ พบว่าเฉลี่ยสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

นักวิเคราะห์มองว่า ขณะนี้ในประเทศจีน และอินเดีย มีภาวะโรคอ้วนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 724,000 ล้านดอลลาร์ ในการรักษาภายในปี 2573 และเป็นกลุ่มประเทศที่ยังไม่มีมาตรการจัดเก็บภาษีเพื่อป้องกันภาวะโรคอ้วน ขณะที่บางประเทศเริ่มให้ความสนใจ เช่น สหรัฐ เป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวภาษีโซดาประเทศไทย บรูไน และสิงคโปร์ มีการจัดเก็บภาษีน้ำตาล ส่วนแอฟริกาใต้ก็มีแผนจะนำภาษีน้ำตาลมาใช้ในเดือนเมษายนปีหน้า ขณะที่สหราชอาณาจักรก็มีการออกกฎห้ามโฆษณาอาหารที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาล แก่เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี