หวนศึกษายุทธศาสตร์ “3 ศร” มรดกจาก “ชินโซ อาเบะ”

ยุทธศาสตร์ ชินโสะ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

กรณีที่ “ชินโซ อาเบะ” อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างกล่าวปราศรัยหาเสียงช่วยลูกพรรคที่เมืองนารา เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เนื่องจากอาเบะเป็นผู้นำญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคหลังมานี้ อาเบะเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 2 สมัย ช่วงแรกระหว่างปี 2006-2007 และอีกครั้งระหว่างปี 2012-2020 เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจากแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่เรียกกันตามชื่อของผู้กำหนดนโยบายว่า “อาเบะโนมิกส์”

เป้าหมายสำคัญของแนวนโยบายนี้ก็คือ การกระตุ้นให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากอยู่ในสภาพทรงกับทรุดจากภาวะ stagnation มากว่า 20 ปี นับตั้งแต่ฟองสบู่แตกเมื่อต้นทศวรรษ 1990

ยุทธศาสตร์สำคัญของ “อาเบะโนมิกส์” ในการดำเนินความพยายามกระตุกให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวอีกครั้ง และกระตุ้นให้ค่าจ้างแรงงานถีบตัวสูงขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและขยายอุปสงค์ภายในประเทศ เรียกว่า ยุทธศาสตร์ 3 ศร

ลูกศรทั้ง 3 ดอกของอาเบะคือ การกำหนดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่ง, การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังครั้งใหญ่ และสุดท้ายก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างของเศรษฐกิจเสียใหม่

ญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของอาเบะ เป็นญี่ปุ่นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดในโลก ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลก็เทเงินหลายแสนล้านดอลลาร์เข้าไปในระบบ ทั้งด้วยการใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ และการแจกจ่ายเงินสดออกไป

ในส่วนของการปฏิรูป อาเบะพยายามเพิ่มผลิตภาพให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นด้วยการพยายามขจัดความเฉื่อยเนือยในระบบราชการ และขยายฐานแรงงานในสังคมที่ชราภาพลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการดึงแรงงานสตรี, แรงงานสูงอายุ และแรงงานอพยพ เข้ามาสู่ระบบมากขึ้น

“แทนที่จะมามัวนั่งกังวลกับปัจจุบัน เราควรมองไปข้างหน้าสู่อนาคตดีกว่า” คือ คำประกาศของอาเบะเมื่อปี 2016 ที่หลายคนจดจำขึ้นใจ เขาชี้ว่า ญี่ปุ่นชราลงก็จริง ประชากรหดตัวลงจริง แต่นั่นไม่ใช่ “ปัญหา” หากแต่เป็น “แรงจูงใจ” ต่างหาก

ภายใต้การนำของอาเบะ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มโงหัวขึ้นจากภาวะพังพาบ การส่งออกขยายตัว ภาวะว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ระหว่าง 2015-2017 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวขึ้นต่อเนื่องกัน 8 ไตรมาส เป็นการขยายตัว
ที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในรอบ 30 ปี

แต่น่าเสียดายที่ยังคงเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่น่าประทับใจนัก หากเทียบกับยุครุ่งโรจน์ของประเทศหลังสงครามโลก และยิ่งน้อยลงไปอีกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในห้วงเวลานั้น

เกือบ 8 ปีที่อาเบะเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงหลังก่อนลาออกด้วยปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเฉลี่ยเพียงปีละ 0.9% เท่านั้นเอง

จีดีพีของประเทศก็ก้าวไปไม่ถึงระดับ 600 ล้านล้านเยนอย่างที่อาเบะตั้งเป้าไว้ในปี 2020

คัง มิน จู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของไอเอ็นจี ชี้ว่า อาเบะโนมิกส์ สร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการปฏิรูปโครงสร้างและนวัตกรรม, ช่วยเพิ่มการลงทุน ทำให้ครัวเรือนและธุรกิจพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น แต่การฟื้นตัวก็ยังจำกัด จนอาจเรียกได้ว่า เป็นความสำเร็จเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ เท่านั้น

กระนั้นเขาเชื่อว่า อาเบะโนมิกส์ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นทรงตัวต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจทรุดวูบลงสู่ภาวะถดถอย ตกต่ำไปแล้ว

เจฟฟรีย์ ฮัลลีย์ นักวิเคราะห์ตลาดเอเชีย-แปซิฟิกของ OANDA เห็นด้วยว่า อาเบะโนมิกส์ประสบผลแบบได้บ้างไม่ได้บ้าง เหตุผลสำคัญเพราะไม่สามารถบันดาลให้ลูกศรลูกที่ 3 เข้าเป้าหมายได้ตามที่ต้องการ เพราะขาดเจตนารมณ์ ขาดความมุ่งมั่น

สุดท้ายก็ตกกลับไปในหลุมกับดักเศรษฐกิจเดิม ๆ อีกครั้ง แม้จะไม่สาหัสเท่าเดิมก็ตามที

ภาวะเงินเฟ้อในญี่ปุ่นไม่เกิด หนี้ภาครัฐกลับพุ่งกระฉูด การค้ายังคงเต็มไปด้วยอุปสรรค เช่นเดียวกับบริษัทภิบาลยังคงไม่ปรากฏให้เห็นเหมือนเช่นที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นยังก้าวข้ามผลประโยชน์ภายในประเทศไม่ได้ เอาชนะความเฉื่อยชาในระบบราชการไม่ได้

เขาเชื่อว่า อาเบะไม่ได้ล้มเหลวเพราะกำหนดยุทธศาสตร์ผิดพลาด เพียงแต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะไม่สามารถแปรยุทธศาสตร์ให้กลายเป็นจริงในทางปฏิบัติได้ครบถ้วนอย่างที่ต้องการเท่านั้น

นั่นทำให้อาเบะโนมิกส์ ยังน่าสนใจหวนกลับไปศึกษาอย่างจริงจัง สรุปบทเรียนและปรับปรุงใหม่

ไม่แน่ นี่อาจเป็นทางออกของหลาย ๆ ประเทศ หรือบางประเทศ ภายใต้บริบทวิกฤตเศรษฐกิจสาหัสที่เผชิญกันอยู่ในเวลานี้ก็เป็นได้