ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาของ “อาเซียน”

ภาวะเงินเฟ้อ
คอลัมน์​ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ภาวะเงินเฟ้อกำลังกลืนกินเศรษฐกิจของหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก บรรดาชาติในอาเซียนเองย่อมหนีไม่พ้นจากปัญหาร่วมของทั้งโลกในเวลานี้ แม้ว่าโดยตัวเลขแล้ว เงินเฟ้อในอาเซียนยังดูแล้วอยู่ในระดับต่ำกว่าในอีกหลาย ๆ ส่วนของโลกก็ตามที

สํานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 หรือ “แอมโร” องค์กรวิชาการอิสระ ที่ตั้งขึ้นตามกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพิ่งเผยแพร่ข้อมูลออกมาเมื่อเดือน ก.ค. 2022 คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของชาติสมาชิกอาเซียนในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 5.2% เท่านั้นเอง

ระดับเงินเฟ้อดังกล่าวเทียบแล้วเป็นเพียงครึ่งเดียวของอัตราเงินเฟ้อในบราซิล แล้วก็ต่ำกว่าภาวะเงินเฟ้อของอินเดียหรือแอฟริกาใต้อยู่ไม่น้อย กระนั้นก็ยังสูงกว่าเมื่อปีที่ผ่านมามากกว่าเท่าตัว

เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา “ภาวะเงินเฟ้อ” ในกลุ่มอาเซียนเทียบแล้วจัดว่ายังต่ำกว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งบรรดาประเทศยากจนในภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งทำให้ชาติในอาเซียนเชื่อว่า คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อคงขยับสูงขึ้น แต่จะอยู่ในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เกิดภาวะราคาพุ่งขึ้นสูงพรวดพราด จนเกิดภาวะช็อกกันขึ้นแต่อย่างใด

แต่ถึงตอนนี้ความเป็นจริงที่ปรากฏไม่เป็นไปตามนั้นแล้ว ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศที่มีภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่มอาเซียนอย่างลาว เงินเฟ้อสูงถึง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แม้ภาวะเงินเฟ้อเฉลี่ยของอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำ แต่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นทุกที สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นในชาติอาเซียนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องนำเข้าทั้งพลังงานและอาหาร อย่างฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งไทย

ราคาน้ำมันในสิงคโปร์เมื่อเดือน พ.ค.สูงขึ้นเกือบ 1 ใน 5 ของระดับราคาในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ในไทยพุ่งขึ้นเกือบ1 ใน 3 ส่วนในฟิลิปปินส์ ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นถึง 86%

ลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับธัญพืชทั้งหลายที่ราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เพราะภาวะขาดแคลนในระดับโลก บวกกับต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ราคาสินค้ากลุ่มอาหารที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบรุนแรงไม่น้อย เนื่องจากภูมิภาคอาเซียน สัดส่วนของการใช้จ่ายเพื่อซื้อหาอาหารของประชากรจากรายได้รวมทั้งหมดอยู่ในระดับสูงทีเดียว

ข้อมูลเมื่อปี 2020 ของสำนักวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ (อีอาร์เอส) หน่วยงานทางการของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนในประเทศอย่างเมียนมา, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และลาว ต้องใช้เงินรายได้ไปเพื่อซื้อหาอาหารบริโภคสูงถึง 40-50% สูงจนถูกจัดอยู่ใน 15 อันดับแรกของโลกเลยทีเดียว

ภาวะเงินเฟ้อจะทำให้เกิดคนยากจน อันหมายถึงคนที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า 3.20 ดอลลาร์ หรือ (ราว 115 บาท) ในอาเซียนเพิ่มมากขึ้นทันตาเห็น

ตัวอย่างเช่น ธนาคารโลกประเมินไว้ว่า หากราคาสินค้าสำคัญอย่างน้ำมันหรืออาหารของโลก ขยับขึ้นไป 10% ประชากรในฟิลิปปินส์จะตกอยู่ในภาวะยากจนเพิ่มมากขึ้น 1% ในกรณีของอาหาร และ 0.3%ในกรณีของน้ำมันเชื้อเพลิง

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ในเวลานี้ก็คือ ราคาธัญพืชเมื่อเดือน มิ.ย.สูงขึ้น 27%เทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยในปีนี้จะสูงกว่าปีก่อนหน้าราว 50%

รัฐบาลของชาติในอาเซียนออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบตั้งแต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในลาวและฟิลิปปินส์, มาตรการแจกเงินช่วยเหลือโดยตรงในสิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไปจนถึงการใช้งบประมาณของรัฐอุดหนุนราคาน้ำมันหรือราคาปุ๋ยในไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ไปจนถึงการจำกัดการขึ้นราคาสินค้า เป็นต้น

ปัญหาก็คือ ยิ่งนับวันงบประมาณรายจ่ายเพื่อการนี้ยิ่งถีบตัวสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น มาเลเซีย คาดกันว่าต้องใช้งบฯเพื่อการนี้ในปีนี้สูงถึง 78,000 ล้านริงกิต หรือราว 17,500 ล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับ 4.7% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา ก็ส่งผลให้สกุลเงินของชาติอาเซียนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และยิ่งทำให้การนำเข้าน้ำมันและสินค้าอาหารมีต้นทุนสูงมากขึ้นไปอีก

ขณะที่เสียงเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็เริ่มดังมากขึ้นตามลำดับ จากบรรดาผู้ใช้แรงงานที่คาดว่าภาวะเงินเฟ้อจะคงอยู่ในระยะยาว

ข่าวดีก็คือนักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่า ภาวะเงินเฟ้อในเอเชียไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว กระทั่งอาจถึงจุดสูงสุดและเริ่มต้นลดระดับลงแล้วด้วยซ้ำไป

ผู้นำของหลายชาติสมาชิกอาเซียนกำลังภาวนาให้ความเชื่อที่ว่ากลายเป็นความจริง ก่อนหน้าที่ภาวะเงินเฟ้อจะคุกคามมากขึ้นและลุกลามกลายเป็นปัญหาการเมืองของรัฐบาลในที่สุด