เศรษฐกิจตอนเหนือ “เวียดนาม” แม่เหล็กดึงลงทุนตัวใหม่

“เวียดนาม” เป็นดาวเด่นของอาเซียน ที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าจากสหรัฐและจีน ทำให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าไปจำนวนมาก

โดยที่ผ่านมาการลงทุนในเวียดนามมักกระจุกตัวอยู่ทางภาคใต้ของประเทศรอบ ๆ เมืองโฮจิมินห์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามภูมิภาคต่าง ๆ ส่งผลให้ภาคเหนือของเวียดนามกลายเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ โดยมีภาคอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนกว่าอุตสาหกรรมหลักของทางภาคใต้ อย่างเสื้อผ้าและสิ่งทอ

ล่าสุด ในงานสัมมนา “DOING BUSINESS IN VIETNAM : Opportunities and Practices” จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) นายฮานส์ เคิร์สเตน หัวหน้าฝ่ายขาย บริษัท “ดีป ซี อินดัสเตรียลโซน” ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของเวียดนาม ระบุว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเขตเศรษฐกิจตอนเหนือบริเวณ 3 เหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ประกอบด้วย กรุงฮานอย, จังหวัดไฮฟอง และจังหวัดกว๋างนิญ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

นับตั้งแต่ปี 2011-2018 เขตเศรษฐกิจตอนเหนือนี้เป็นจุดหมายหลักของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของ FDI ทั้งหมดแต่ละปี พร้อมกับการลงทุนระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อปี 2018 “กว๋างนิญ” เป็นจังหวัดที่เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูงสุด 16.27% ขณะที่ “ไฮฟอง” เติบโต 11.10% เป็นสองจังหวัดที่เศรษฐกิจเติบโตสูงสุดในเวียดนาม

โดยรัฐบาลเวียดนามเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว เช่น การขยายและปรับปรุงท่าเรือนํ้าลึก Lach Huyen ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020 รวมถึงการยกระดับสนามบินนานาชาติก๊าตบี้ในไฮฟอง ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 8 ล้านคน/ปี ภายในปี 2025

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามก็มีมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ จังหวัดไฮฟองที่มีแพ็กเกจลดภาษีนิติบุคคล 15 ปีแรก 4 ปีแรก 0% ปีที่ 5-13 อัตรา 5% และปีที่ 14-15 อัตรา 10% และปีต่อ ๆ ไปอัตรา 20% เป็นต้น พร้อมกับเตรียมปรับแก้กฎระเบียบบางอย่างเร็ว ๆ นี้ เช่น แก้กฎหมายให้ต่างชาติลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ในสัดส่วนมากขึ้น เช่น ธุรกิจธนาคาร, แก้กฎระเบียบเพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพ

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในเวียดนามส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานเป็นหลัก โดย นายพอล ทองส์ ผู้อำนวยการฝ่ายอสังหาริมทรัพย์และโลจิสติกส์ บริษัท คัชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น จึงต้องเผชิญความสุ่มเสี่ยงกับภาวะถดถอยของประเทศคู่ค้าหลักซงมีเพียงไม่กี่ประเทศ นอกจากนี้ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจกระทบต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเวียดนาม รวมถึงภาคการผลิตที่ยังมีประสิทธิภาพต่ำและขาดแคลนแรงงานทักษะจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมในอนาคต

สอดคล้องกับมุมมองของ ดร.เพเนโลปี้ โกลด์เบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ที่มองว่า เวียดนามยังพึ่งพาการผลิตและส่งออกสินค้าที่อาศัยแรงงานทักษะต่ำซึ่งมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจน้อย และสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม มีเพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งเป็นสินค้าประเภทแรงงานเข้มข้น ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจระดับสูงเป็นความท้าทายที่สำคัญของเวียดนาม