- ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
หลักสูตรการเอาตัวรอดและทัศนคติของครู สำคัญแค่ไหน หลังเกิดกรณีเด็ก 7 ขวบ ถูกลืมทิ้งในรถโรงเรียนหลายชั่วโมง จนเสียชีวิต โรงเรียนหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ฝึกทักษะให้เด็กเอาชีวิตรอดหากติดในรถ มานานกว่า 7 ปี ควบคู่หลักสูตรนอกตำราอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กจะรับมือเหตุฉุกเฉินได้ แม้อยู่นอกโรงเรียน
จากเหตุน่าสลดใจที่นักเรียนอายุ 7 ขวบ ชื่อ “น้องจีฮุน” ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนชื่อดังใน จ.ชลบุรี เสียชีวิตภายในรถตู้รับ-ส่งของโรงเรียน โดยพบศพในช่วงเย็นวันที่ 30 ส.ค. ด้วยสภาพศพนอนคว่ำหน้าและมีเลือดออกบริเวณมุมปาก สังคมไทยกำลังตั้งคำถามว่า ทำไมอุบัติเหตุเช่นนี้จึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557-2563 พบสถานการณ์เด็กถูกลืมและทิ้งอยู่ในรถตามลำพัง 129 เหตุการณ์ และมีเด็กเสียชีวิต 6 ราย เป็นเพศหญิง 3 คน ชาย 3 คน อายุระหว่าง 2-6 ปี แต่กรณีเด็กอายุ 7 ปีที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นเด็กอายุมากที่สุดที่เสียชีวิตหลังถูกลืมทิ้งไว้ในรถโรงเรียนเป็นเวลานาน
ข่าวนี้ทำให้สังคมออนไลน์พูดถึงมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก และมีการแชร์ภาพของเพจเฟชบุ๊กโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ฝึกทักษะให้เด็กเล็ก รู้จักการเอาตัวรอดหากติดอยู่ในรถรับ-ส่งนักเรียน รวมถึงมาตรการอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กจะได้รับความปลอดภัยอย่างเต็มที่
“นับแต่เปิดโรงเรียนเมื่อปี 2557 เราไม่เคยเจออุบัติเหตุแบบนี้เลย” ทรรศพร บริบูรณ์ รองผู้จัดการโรงเรียนบริบูรณ์วิทยา จ.นครศรีธรรมราช บอกกับบีบีซีไทย
เธออธิบายว่า ทางโรงเรียนจัดหลักสูตร “เซอร์ไววัล” (Survival) เพื่อสอนการเอาตัวรอดจากการติดในรถให้เด็ก ๆ ทุกระดับชั้น ตั้งแต่ก่อนอนุบาล จนถึงชั้นประถม โดยหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย
- สอนให้เด็กบีบแตรขอความช่วยเหลือ
- สอนการปลดล็อกรถ เปิดประตู เปิดหน้าต่าง
- การออกมาจากรถอย่างปลอดภัย
ทรรศพร เสริมว่า ได้จำลองสถานการณ์และให้เด็กฝึกปฏิบัติจริง และไม่ได้สอนครั้งเดียวจบ แต่จัดขึ้นบ่อย ๆ เพื่อให้ทักษะการเอาตัวรอด ติดตัวเด็กไปแม้จะอยู่นอกรั้วโรงเรียน
คุณแม่ใจสลาย
มารดาของน้องจีฮุน เด็กที่เสียชีวิต เปิดเผยในรายการ “โหนกระแส” เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ว่า พอลูกยังไม่กลับบ้านในช่วงเกือบ 17.00 น. จึงโทรไปสอบถามอาจารย์ที่โรงเรียน
“เขาบอกว่าน้องไม่หายใจแล้ว ตอนนั้นแม่ไม่มีเรี่ยวแรงอะไรต่อ ก็ถาม (ครู) ว่าทำไมไม่ดูแลลูกหนูให้ดี”
“เขาพยายามชี้แจงว่าพอเขาขับรถไปจอดที่โรงเรียน เด็กนักเรียนลงจากรถ ครูพี่เลี้ยงที่ดูเด็กอยู่บอกว่าไปได้แล้ว เพราะเด็กลงหมดแล้ว คนขับก็ขับไปจอดที่โรงจอดรถ ตั้งแต่ 7 โมง ถึง 4 โมงเย็น” มารดาของผู้เสียชีวิต กล่าว พร้อมเสริมว่า เท่าที่รู้รถโรงเรียนของโรงเรียนนี้มักถูกนำไปจอดกลางแดดตลอด
อาจารย์ของโรงเรียนยอมรับว่าประมาทไม่ได้ตรวจสอบว่าเด็กลงจากรถครบหรือยัง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำพยานบุคคล ตรวจสอบพยานหลักฐาน และเตรียมแจ้งข้อหาคนขับรถ-ครูประจำรถ ฐาน “กระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
เมื่อได้เห็นข่าวลักษณะนี้ รองผู้จัดการโรงเรียนโรงเรียนบริบูรณ์วิทยา ยอมรับว่า “พี่ดูครั้งแรก ดูแล้วร้องไห้ สงสารแม่เขามากเลย” และยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำว่า มาตรการที่รัดกุมและเป็นระบบ รวมถึงการจัดหลักสูตรการเอาตัวรอดให้เด็ก ๆ ของทางโรงเรียน มาถูกทางแล้ว
รร.บริบูรณ์วิทยาทำอย่างไร… ให้มั่นใจว่าเด็กปลอดภัย
ทรรศพร อธิบายว่า แนวคิดเรื่องหลักสูตรการเอาตัวรอด และมาตรการรับรองความปลอดภัยต่อเด็ก ๆ ริเริ่มมาจาก ดร.สุวิทยา บริบูรณ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนและบิดา ที่ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว หลังพบเห็นข่าวการเสียชีวิตของเด็กที่ถูกลืมทิ้งไว้ในรถโรงเรียนบ่อยครั้ง
ในส่วนของรถตู้รับ-ส่งนักเรียน มีทั้งหมด 20 คัน ขึ้นทะเบียนจากกรมขนส่ง ติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็น สีรถตามข้อบังคับอย่างถูกต้อง รวมถึงจำกัดความเร็ว โดยหากวิ่งเกิน 80 กม./ชม. จะมีสัญญาณเตือนดังขึ้น
ขณะที่คนขับรถมีใบขับขี่ และเข้ารับการอบรมขับรถโรงเรียนทุก 6 เดือน ตรวจปัสสาวะเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสารเสพติด และประชุมงานทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินการทำงานให้ดีขึ้น
กระบวนการรับ-ส่งนักเรียน มีดังนี้
- ครูประจำสายรถ เช็กชื่อนักเรียนทุกคนที่รับ ถ้าขึ้นรถ 15 คน ต้องลงรถ 15 คน
- หลังจากรับนักเรียนเข้ามาในโรงเรียนตอนเข้า คนขับรถจะเปิดประตูรถ และทำความสะอาดรถทุกคัน เพื่อตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่า ไม่มีเด็กหลงเหลืออยู่ในรถ
- จอดรถในที่ร่ม มีกำบังแดด
- เปิดประตูท้ายและข้างรถทิ้งไว้ เพื่อระบายอาการ
- ขับรถมาจอดที่โรงอาหารอีกครั้งในช่วงบ่าย เพื่อเตรียมรับนักเรียนไปส่งที่บ้าน
ภานุวัตน์ บริบูรณ์ ผู้จัดการโรงเรียนและบุตรชายของผู้ก่อตั้ง อธิบายว่า มาตรการเหล่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลงลืมเด็กไว้ในรถ และยิ่งเกิดเหตุเด็กนักเรียน 7 ขวบเสียชีวิต ยิ่งทำให้ทางโรงเรียนยิ่งต้องกวดขันมาตรการเหล่านี้
“รู้สึกเสียใจ” ภานุวัตน์ ระบุ “ประชุมครูไปว่า ต้องป้องกันให้เต็มที่ เรารับผิดชอบดูแลเด็ก ก็ต้องทำสุดความสามารถ”
กฎหมายว่าด้วยรถโรงเรียนไทยว่าอย่างไร ?
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 ระบุว่า รถโรงเรียนที่จะนำมารับ-ส่งนักเรียน ต้องมีลักษณะ ดังนี้
- มีเครื่องหมายเป็นแผ่นป้ายพื้นสีส้มสะท้องแสง ขนาดกว้างอย่างน้อย 35 ซม. และยาวอย่างน้อย 85 ซม. มีข้อความว่า “รถโรงเรียน” เป็นตัวอักษรสีดำความสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ ให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร และมีชื่อโรงเรียนติดอยู่ด้านข้างทั้งสองข้างของตัวรถ พร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี)
- กระจกรถต้องมีลักษณะโปร่งใส สามารถมองเห็นสภาพภายในรถและสภาพการจราจรภายนอกรถได้ชัดเจน หากมีการติดฟิล์มกรองแสง เมื่อวัดการผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกกันลมและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าระดับที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบดบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด และไม่เป็นเหตุให้บังทัศนวิสัยในการขับขี่
- มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุหรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นดังนี้
- สีของรถต้องใช้สีตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนมีหน้าที่ คือ
- ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่รับ-ส่ง แต่ละเที่ยวให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อนักเรียน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ใช้บริการตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบนี้
- ประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาที่รับ-ส่งนักเรียน เพื่อควบคุมดูแล และช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยตลอดการเดินทาง
- รายงานให้ทางโรงเรียนทราบทันทีที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น
- เข้ารับการอบรมตามที่โรงเรียนหรือผู็ดำเนินกิจการรถโรงเรียนกำหนด
ส่วนทางผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนมีหน้าที่ ควบคุมดูและและเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยในการรับ-ส่งนักเรียน จัดให้มีผู้ควบคุมดู โดยผู้ควบคุมดูแลและพนักงานขับรถ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับ-ส่งนักเรียน มีการรายงานผลจัดส่งให้โรงเรียนทุกเดือน และรายงานโรงเรียนทราบทันทีที่เกิดเหตุหรือกรณีฉุกเฉินขึ้น
โรงเรียนที่ไม่ได้สอนแค่ความรู้ในตำรา
นอกเหนือจากการฝึกทักษะให้เด็ก ๆ รู้วิธีเอาตัวรอดกรณีการติดในรถแล้ว โรงเรียนบริบูรณ์วิทยายังจัดหลักสูตรการเอาตัวรอด จากสถานการณ์และอุบัติเหตุอื่น ๆ ด้วย อาทิ การจมน้ำ การกู้สัญญาณชีพแบบซีพีอาร์ การรับมือเหตุเพลิงไหม้ฉุกเฉิน และการรับมืออุทกภัย เป็นต้น โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิง มาสอนทักษะให้เด็ก ๆ โดยตรง
“ถ้าเป็นฤดูฝนก็จะสอนป้องกันการจมน้ำ น้ำท่วม ถ้าเป็นฤดูร้อน ก็สอนรับมือไฟไหม้ฉุกเฉิน” ภานุวัตน์ บอก
“ครอบครัวผมทำธุรกิจด้านการศึกษามา 3 รุ่น ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ เปิดกันมา 80 ปีแล้ว…เราต้องทำทุกวิถีทาง ใช้หลักสูตรในตำราและนอกตำรา พัฒนามาตรการให้มากที่สุด เพื่อรับรองความปลอดภัยของเด็ก”
ด้าน ทรรศพร น้องสาวของภานุวัตน์ แสดงความเห็นว่า แม้จะมีมาตรการที่รัดกุม รถโรงเรียนที่ถูกต้องตามข้อบังคับ และหลักสูตรฝึกทักษะนักเรียน แล้ว แต่ทัศนคติของครูอาจารย์ก็สำคัญ เพื่อทำให้เด็กปลอดภัยที่สุดภายใต้ความดูแลของทางโรงเรียน
“ผู้ปกครองฝากหัวใจไว้กับโรงเรียน ให้เด็กเรามาดูแลและพัฒนา เมื่อรับลูกเขามาแล้ว ก็ถือเป็นครอบครัว ครูจะไม่ทิ้งเด็กเลย สำคัญมาก”
…..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว