อนาคตที่ไม่แน่นอนของ ลิซ ทรัสส์ นายกฯ สหราชอาณาจักร

ทรัสส์

ที่มาของภาพ, Reuters

 

หลัง รมต.ลาออก และ ส.ส. พรรคตัวเองไม่หนุนรัฐบาล ลิซ ทรัสส์ จะเป็นนายกฯ สหราชอาณาจักรไปอีกนานเท่าไร 

หลังความวุ่นวายอลหม่านที่สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษเมื่อ 19 ต.ค. ตอนนี้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ลิซ ทรัสส์ อาจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรไปได้อีกไม่นาน

ล่าสุด ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟ มากกว่า 12 คนได้ออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้เธอลาออกจากตำแหน่งแล้ว และล่าสุด นางทรัสส์ได้ขอเข้าพบเซอร์ เกรแฮม เบรดี ประธานคณะกรรมการ 1922 ของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นคณะกรรมการทรงอิทธิพลที่ดูแลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

ทรัสส์

กลับลำ

ก่อนหน้านี้ นางทรัสส์ต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วหลังจากนายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ประกาศต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจะยกเลิกแผนการตัดลดภาษีแทบทั้งหมดของนางทรัสส์ ที่บรรจุอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า “งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ” (mini-budget) มูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์

การที่รัฐบาลประกาศงบประมาณแผ่นดินฉบับย่อเมื่อ 23 ก.ย. โดยที่ไม่มีรายละเอียดว่า จะนำเงินจากไหนมาใช้สำหรับแผนนี้ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ผันผวนร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ก่อนดีดตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพุ่งพรวด ราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซง

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายกวาซี กวาร์เทง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ซึ่งเป็นคนสนิทของนางทรัสส์ถูกปลดจากตำแหน่ง หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 38 วัน

การตัดสินใจของนายฮันต์สร้างความยินดีให้แก่บรรดานักลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการฉีกแผนดำเนินงานทางเศรษฐกิจของนางทรัสส์จนไม่เหลือชิ้นดี และมีกระแสเรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่งหลังจากเข้าบริหารประเทศเพียงไม่กี่สัปดาห์

ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี นางทรัสส์ยอมรับผิดชอบที่ “ไปไกลและเร็วเกินไป” และต้องการ “กล่าวขออภัยต่อความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไป”

วิกฤตครั้งใหม่

นางทรัสส์กำลังเผชิญกับกระแสความไม่พอใจระลอกใหม่จนอำนาจของเธอกำลังสั่นคลอน เริ่มจากเมื่อ 19 ต.ค. ซูเอลลา เบรเวอร์แมน รัฐมนตรีว่าการวกระทรวงมหาดไทย ลาออกจากตำแหน่งกะทันหันโดยให้เหตุผลว่าตนละเมิดข้อห้ามของรัฐมนตรีที่ส่งเอกสารราชการให้คนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้สามารถดูเอกสารนั้นได้

อย่างไรก็ดี ในจดหมายลาออกของเธอ นางเบรเวอร์แมนก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยโดยกล่าวหาว่า รัฐบาลไม่ทำตาม “คำมั่นสัญญาหลัก ๆ” ที่ให้ไว้ และก็ไม่สามารถลดจำนวนผู้อพยพได้ นายแกรนต์ แชปป์ส ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ แม้เมื่อ 6 สัปดาห์ที่แล้วนายแชปป์สเพิ่งถูกนางทรัสส์ปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม

ส.ส. คอนเซอร์เวทีฟ 40 คน ไม่สนับสนุนพรรค

เมื่อ 19 ต.ค. มีการจัดการลงมติว่า ส.ส. จะมีสิทธิ์คัดค้านหรือสนับสนุนแผนของรัฐบาลที่จะกลับมาอนุญาตให้ขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยเทคนิค “แฟรกกิ้ง” (Fracking) หรือไม่

“แฟรกกิ้ง” คือระบบการผลิตปิโตรเลียมด้วยการฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมหาศาลลงใต้ดินเพื่อทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน เพื่อให้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ หลุดออกมา

ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ หลายคนไม่เห็นด้วยกับแผนของรัฐบาลที่จะให้ขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยเทคนิคนี้อีกครั้ง แต่ได้รับแจ้งว่าการลงมตินี้จะถูกมองว่าเป็นการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล

สุดท้ายแล้ว รัฐบาลชนะมติด้วยคะแนน 326 เสียงต่อ 230 เสียง โดยมี ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ถึง 40 คน ที่ไม่ลงคะแนนเสียง

ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษออกมาบอกว่า ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่ไม่ได้ลงมติสนับสนุนรัฐบาลจะโดน “มาตรการลงโทษอย่างสมควรแก่เหตุ”

ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษบอกอีกว่า ส.ส. ต่าง “รู้ดี” ว่าการลงมตินี้ถูกมองว่าเป็นการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล

นอกจากนี้ ส.ส.พรรคเลเบอร์ คริส ไบรอัน ยังอ้างอีกว่ามี ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ บางคนถูกเพื่อน ส.ส. ใช้กำลังฉุดดึงเพื่อให้มั่นใจว่า ส.ส. เหล่านั้นจะลงมติสนับสนุนรัฐบาล อย่างไรก็ดี ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการข่มเหงกันเกิดขึ้น

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว