นักจัดระเบียบบ้าน เปลี่ยนความถนัดเป็นอาชีพ ช่วยชีวิตผู้ป่วยจิตเวชในสังคม

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

อิม-อิมยาดา เรือนภู่ (ซ้าย) และ วา-ปริยาภา ริ้วทอง (ขวา)

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

ประตูห้องคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในย่านชานเมืองกรุงเทพฯ เปิดออก พร้อมกลิ่นอับแผ่พุ่งออกมา หญิงสาว 3 คนในชุดดำเดินเข้าไปอย่างมั่นใจ และไม่มีท่าทีตกใจกับสภาพห้องที่เต็มไปด้วยสิ่งของ หนังสือ และเศษขยะ กระจายอยู่ทั่วห้อง

ทีม 3 สาวในชุดดำ แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ คว้าถุงดำเดินไปประจำตามจุดต่าง ๆ คนหนึ่งเก็บกวาดในห้องนอน คนหนึ่งจัดชั้นหนังสือ อีกคนสวมถุงมือยาง เตรียมเข้าไปจัดการกับห้องน้ำ ภารกิจของพวกเธอไม่ใช่ การเก็บทิ้งและการทำความสะอาด แต่คือ “การจัดระเบียบบ้าน”

“วันนี้ เป็นเคสผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เป็นคู่รักกัน” อิม-อิมยาดา เรือนภู่ ผู้ก่อตั้ง “แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน” บอกกับบีบีซีไทยที่เข้ามาติดตามการทำงานของพวกเธอในวันนี้

เธออธิบายว่า สังเกตถึงความผิดปกติของลูกค้ารายนี้ ตั้งแต่ได้เห็นภาพที่ส่งมาให้ประเมิน จึงสอบถามว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตหรือไม่ เพื่อจะได้ออกแบบการให้บริการได้อย่างเหมาะสม

สำหรับเคสคู่รักที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า “มันต้องจบด้วยศิลปะ ความพึงพอใจของมนุษย์…ดึงความสวยงามของชีวิตออกมา ทำให้เขารู้สึกว่าห้องนี้เป็นเซฟโซน (พื้นที่ปลอดภัย)” อิม อธิบาย ก่อนหันไปมองแจกันดอกไม้สีสันสดใส ที่ข้างในมีพฤกษาหลากพันธุ์จัดไว้อย่างสวยงาม ที่เมื่อจัดระเบียบบ้านเสร็จแล้ว จะถูกนำไปประดับตามมุมต่าง ๆ ของห้อง เป็น “บริการพิเศษ” สำหรับลูกค้าที่เป็นโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะ

อิม ยอมรับว่า เคสผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตมักท้าทายเสมอ และลูกค้าส่วนใหญ่ของเธอก็มักมีปัญหาในลักษณะคล้ายกัน คือ โรคซึมเศร้า โรคสะสมของ เป็นต้น แต่ลูกค้าแบบนี้เอง ที่เธอรู้สึกว่าบริการของ แมวบิน มีความจำเป็น เพื่อช่วย “จัดระเบียบชีวิต” ให้พวกเขา

อาชีพนักจัดระเบียบบ้าน คืออะไร และทำไมหญิงสาวที่เคยมีอาชีพการงานที่มั่นคง ถึงก้าวออกมาทำธุรกิจนี้ จนมีผู้สนใจใช้บริการจองคิวยาวถึงกลางปี 2566 บีบีซีไทย ขอพาไปติดตามการทำงานของพวกเธอกัน

จัดระเบียบ…คู่รักป่วยซึมเศร้า

อิม พลิกที่นอนขึ้นและต้องอุทานตกใจกับสิ่งที่เธอเห็นอยู่ข้างใต้ ไม่ว่าจะเป็นขยะ ใบเสร็จ ซองถุงยางอนามัย ถุงขนม และอื่น ๆ ก่อนหันมาอธิบายกับบีบีซีไทยว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักใช้ชีวิตอยู่บนเตียงเป็นหลัก ดังนั้น เศษขยะเหล่านี้ใต้ที่นอนและบนหัวเตียง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก

Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

สิ่งที่เธอให้ความสำคัญมากกว่า คือ สิ่งของมีคมที่พบกระจายอยู่ทั่วห้อง อย่างห้องของลูกค้ารายนี้ “เราเจอคัตเตอร์มากกว่า 10 อัน” ซึ่งในกรณีผู้ป่วยซึมเศร้า ถือเป็นวัตถุอันตรายและอาจนำไปสู่ความคิดอยากทำร้ายตัวเองได้

การจัดระเบียบบ้านของแมวบิน คือ การทิ้งสิ่งที่พิจารณาแล้วว่า ไม่มีความจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของลูกค้า โดยสิ่งของทุกชิ้น ไปจนถึงขยะด้วย จะต้องผ่านมืออิมและทีม เพื่อเลือกว่าจะ “เก็บ” หรือ “ทิ้ง” โดยมีกฎเหล็กที่ต้องตกลงกับลูกค้าว่า ลูกค้าต้องไม่อยู่ในห้อง/บ้าน เวลาทำงานต้องออกไปรอด้านนอก และไม่เข้ามาจนกว่าจะจบงานแล้ว

“ต้องปล่อยวางเป็นอันดับหนึ่ง เราไม่นิยมให้ลูกค้าสะสมวัตถุ ไม่สนับสนุนให้ลูกค้าเก็บ ไม่สนับสนุนให้ลูกค้าแบกภาระวัตถุต่าง ๆ ไว้ แต่สนับสนุนให้คุณอยู่ด้วยความบางเบา บินได้ คุณปล่อยวาง คุณสามารถมีชีวิตด้วยปัจจัยสี่ปัจจัยห้าก็เพียงพอ” อิม อธิบายระหว่างนั่งบนพื้นห้อง เลือกว่าสิ่งของไหนจะเก็บลงกล่อง ชิ้นไหนจะลงถุงดำ

นำสิ่งของลงกล่อง เพื่อเตรียมนำมาคัดสรรว่า ชิ้นไหนเก็บ ชิ้นไหนทิ้ง

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

สำหรับกรณีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อิม แบ่งการทำงานออกเป็น “ศิลป์” และ “ศาสตร์” ดังนี้

ศิลป์

  • ห้องต้องมีแสงธรรมชาติเข้ามาให้เยอะที่สุด พยายามเปิดผ้าม่านให้มากที่สุด
  • จัดบ้านให้โล่งมากที่สุด เพื่อสร้างความรู้สึกอยากทำกิจกรรมภายในห้อง
  • ประดับห้องด้วยดอกไม้และแจกัน สร้างความรู้สึกให้เจ้าของห้องเบิกบาน กระตุ้นให้รู้สึกมีชีวิต

ศาสตร์

  • นำวัตถุอันตรายออกจากห้อง เช่น คัตเตอร์ ใบมีดโกน เป็นต้น
  • จัดระเบียบสิ่งของเพื่อให้ง่ายกับการค้นหา เพราะ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีภาวะหลงลืมบ่อย
  • ทิ้งสิ่งที่พิจารณาว่าไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตออกไป
“เราเจอคัตเตอร์มากกว่า 10 อัน”

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

แม้จะฟังดูน่าแปลกใจที่ต้องให้คนแปลกหน้ามาตัดสินใจเลือกทิ้งสิ่งของ โดยเราไม่ได้อยู่ในห้องด้วย แต่ อิม บอกว่า การปล่อยให้ลูกค้า “สปาร์คจอย” หรือ การจุดประกายความสุขกับสิ่งของและเสื้อผ้า จะทำให้งานของแมวบินล้มเหลว

ลูกค้าเกือบ 100% ของเธอ ต่างก็เข้าใจกับกฎข้อนี้ในการใช้บริการ และเชื่อใจจากคุณภาพของงานก่อน ๆ หน้า ที่แมวบินเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการโพสต์ผลงานเปรียบเทียบแบบ “ก่อนและหลัง”

“จบออกมาแล้วทุกคนรู้สึกอัศจรรย์ เราจบด้วยความเร็ว เราจบด้วยความที่มันสวย จึงทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ เพียงระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปี เรามีคิวยาวไปแล้ว 1 ปีล่วงหน้า”

จุดเริ่มต้นของ “แมวบิน”

อิม ศึกษาจบสาขาการโรงแรม มหาวิทยาลัยรังสิต และทำงานประจำมาแล้วหลายตำแหน่ง ทั้ง ผู้จัดการ ผู้จัดการโครงการ งานโรงแรม และพนักงานขาย แต่เมื่อถึงวัยกลางเลขสาม เธอกลับรู้สึก “หมดไฟ” กับงานที่เธอรู้สึกว่ายังไม่สะท้อนศักยภาพที่แท้จริง

เมื่อพยายามหาคำตอบถึงสิ่งที่ตนเองชอบ อิม พบว่า เธอชอบการทำงานบ้าน “ในเมื่อเราเก่งงานบ้าน… และเราก็มีความสุข อาชีพนี้ก็ยังไม่ค่อยมีคนทำ มันก็เลยเป็นจุดที่โอเค อยากทำจริงจังแล้ว”

เธอศึกษาวงการนักจัดระเบียบบ้าน ซึ่งมีมานานแล้วในต่างประเทศ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นจาก “มาริเอะ คนโดะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดระเบียบภายในบ้านชาวญี่ปุ่น ผู้คิดค้นทฤษฎีการจัดบ้านแบบ “คนมาริ” เผยแพร่ผ่านหนังสือ “The Life-Changing Magic of Tidying Up” ซึ่งโด่งดังจนนิตยสารไทม์ ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในปี 2558

"คนมาริ" เมืองไทย ไม่สวยงามอย่างที่คิด

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

เมื่อพบว่านักจัดระเบียบบ้านในไทยยังมีไม่มาก และประสบการณ์ที่เคยรับจัดระเบียบบ้านให้คนรู้จักแบบ “ฟรีแลนซ์” เป็นครั้งคราว ทำให้เมื่อช่วงกลางปี 2565 เธอจึงจับมือกับเพื่อน คือ วา-ปริยาภา ริ้วทอง ก่อตั้ง “แมวบิน” ขึ้น

แต่ความจริงของสาวนักจัดระเบียบบ้านชาวไทย คือ “โหดร้ายกว่าความฝันเยอะ” และไม่ได้ดูสวยงาม เรียบหรู แบบมาริเอะ คนโดะ เลย

“ความกดดันสูงมาก เพราะเป็นห้องของคนอื่น…เราต้องจบเคสภายใน 1-2 วัน มันเลยค่อนข้างจะทรหด เจอเรื่องเซอร์ไพร์สหลายอย่าง ท้อแท้ตลอดเวลา ในฝันกับของจริงตรงหน้า มันต่างกันมาก” อิม ยอมรับ พลางมองไปที่ห้องของคู่รักซึมเศร้า ที่มีสิ่งของกองเป็นพะเนินใหญ่ทั่วห้อง

แต่คำขอบคุณและรอยยิ้มของลูกค้า หลังจัดระเบียบ แปลงโฉมบ้านที่เกลื่อนไปด้วยขยะและสิ่งของ จนเหมือนได้บ้านใหม่ เป็นกำลังใจให้ อิม ต้องการทำงานนี้ต่อไป

“ทุกคนพูดเหมือนกันหมดเลยว่า มหัศจรรย์ เขามีความสุขมาก…ตัวเราเองก็มีความสุข ทุกครั้งที่เห็นบ้านสวย ทุกครั้งที่รู้สึกบ้านมันน่าอยู่ เรามีความสุขและบางเบาไปกับเขาด้วย”

วา-ปริยาภา คู่หูที่ร่วมทำ “แมวบิน” มากับอิม เคยเป็นพนักงานประจำมาก่อนในสายการตลาด ซึ่งงานค่อนข้างมั่นคงอยู่แล้ว แต่ตัดสินใจออกมาเป็นนักจัดระเบียบบ้าน เพราะมองว่าเป็นงานที่ท้าทาย

วา พึ่งจัดชั้นหนังสือเสร็จ จนเป็นระเบียบเหมือนใหม่

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

“จริง ๆ คือมันสนุกดี เวลาที่เราต้องออกจากบ้านมาเจอลูกค้าที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน มาเจอห้องเขา มาเจอพื้นที่ส่วนตัวของเขา มันไฟลุกดี แต่ระหว่างนั้น มันก็เกิดความท้อแท้ เหนื่อยล้าระหว่างวัน แต่พอสุดท้ายลูกค้าเขาดีใจ เราก็มีใจที่จะทำต่อ” วา บอกกับบีบีซีไทย ขณะที่กำลังง่วนกับการตามหาหนังสือนิยายและมังงะญี่ปุ่น มาจัดเรียงตามเลขเล่มบนชั้นหนังสือ ที่หนังสือกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ

จัดระเบียบ…อาคารพาณิชย์ของคนเป็นโรคชอบสะสมของ

เมื่อกลางเดือน ต.ค. 2565 ทีมแมวบินของอิม ได้เข้าไปจัดระเบียบอาคารพาณิชย์ 5 ชั้นแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ของลูกค้าที่เป็นโรคชอบสะสมสิ่งของ (Hoarder Disorder) และพบว่ามีสิ่งของสะสมไว้ในบ้านเกือบ 100,000 ชิ้น

“ลูกค้าเตรียมตัวเตรียมใจกว่า 4 เดือน ทีมงานวางแผนนานหลายเดือนเช่นกัน” เธออธิบายในโพสต์บนเพจ “แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน” ซึ่งมีผู้แชร์โพสต์นี้หลายร้อยคน

“เป็นเคสที่ต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ค่อนข้างอ่อนไหว ไม่สามารถรีบร้อนได้… ทุกชิ้นต้องผ่านเจ้าของบ้านเพื่อคัดทิ้ง คัดเก็บ และคัดบริจาค” แต่ทีมงานของเธอก็ใช้เวลา 2 วัน แปลงโฉมอาคารพาณิชย์แห่งนี้ จากหน้ามือเป็นหลังมือ

หนึ่งในงานโหดที่สุดของ "แมวบิน"

ที่มาของภาพ, แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน

อิม ยอมรับกับบีบีซีไทยว่า อาคารพาณิชย์เป็นเคสที่หนักที่สุด เพราะต้องใช้พลังงานมหาศาล จากการที่ต้องเดินขึ้นลงหลายชั้น พร้อมกับสิ่งของที่ต้องรื้อออกมาทั้งหมด และด้วยความเป็นอาคารพาณิชย์ รูปทรงแบบแท่งยาว และไม่ค่อยมีการกั้นห้อง ทำให้การสะสมของง่ายมาก

“มันจะเยอะ มันจะท่วมหัว” อิม เล่าย้อนจากประสบการณ์ตรง “อาคารพาณิชย์มันไม่ค่อยมีหน้าต่าง ทำให้อากาศไม่ค่อยมี ไม่ค่อยถ่ายเท… มันทำให้เราเหนื่อยล้า”

และยิ่งลูกค้าเป็นโรคชอบสะสมสิ่งของ ทำให้งานทวีความยากขึ้น เพราะผู้ป่วยมีความวิตกกังวลว่าของหายไป ไม่อยู่กับที่ ซึ่งบางครั้ง ความวิตกกังวลตลอดเวลาของลูกค้า ทำให้เสี่ยงต่อการยุติการทำงานกลางคัน

เปรียบเทียบภาพก่อนและหลัง จัดระเบียบอาคารพาณิชย์

ที่มาของภาพ, แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน

แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน

ที่มาของภาพ, แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน

อิม อธิบายต่อว่า อาชีพนักจัดระเบียบบ้านทำให้ได้พบเห็นโรคความผิดปกติทางสุขภาพจิตที่หลากหลาย และลูกค้าส่วนใหญ่ล้วนมองแมวบิน เพื่อขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคชอบสะสมสิ่งของ  และกรณีแปลกที่สุดคือ “ลูกค้าที่มีความสุขมากเกินไป”

“หมอบอกว่า เขามีความสุขมากเกินไป มันทำให้เวลาที่ออกไปชอปปิง เขาก็จะซื้อเยอะ แต่เคสแบบนี้จะน้อย เพราะจะสุขแบบนี้ได้ คุณต้องมีเงินด้วย” อิม หัวเราะกับคำพูดของตัวเอง

อาชีพที่ตอบไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ?

ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา นับแต่เปิดแฟนเพจเฟซบุ๊ก และเริ่มอาชีพนักจัดระเบียบบ้านแบบเต็มตัว มีผู้สนใจเข้ามาติดตามเรื่องราวการทำงานของ “แมวบิน” และเคสลูกค้าที่มีความท้าทายหนัก เบา และหลากหลาย จนปัจจุบัน มีผู้กดติดตามบนเฟซบุ๊กหลายหมื่นคน

เมื่อถาม วา-ปริยาภา ว่า ความสนใจของคนไทยต่อการทำงานของพวกเธอ กำลังสะท้อนว่า นักจัดระเบียบบ้านที่ตอบโจทย์สังคมไทยในยุคปัจจุบัน หรือไม่ เธอมองว่า “ใช่” และอาชีพนี้ทำให้ได้รู้ว่า “ลูกค้าเจอปัญหาแบบนี้เยอะมาก ซึ่งไม่กล้าไปบอกใคร หรือไม่รู้จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้อย่างไร”

การยึดมั่นในกฎเกณฑ์และเงื่อนไข รวมถึงจรรยาบรรณในการรักษาความลับที่ลูกค้าไม่ต้องการให้เปิดเผย ถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้การจัดระเบียบบ้านกว่า 50 เคสที่ผ่านมา ลุล่วงด้วยดี

วา เองเป็นคนชอบสะสมหนังสือ

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

“เราอยากให้ลูกค้ามั่นใจว่า ของมีค่าของคุณจะยังอยู่เหมือนเดิม แม้กระทั่งเหรียญ 1 บาท… หรือแม้จะไปเจอความลับต่าง ๆ เรื่องเอกสารส่วนตัว เราไม่แพร่งพรายอยู่แล้ว” วา บอกกับบีบีซีไทย ซึ่งถึงตรงนี้ ชั้นหนังสือเป็นระเบียบขึ้นจนผิดกับก้าวแรกที่ทีมงานเข้ามาภายในห้อง

“เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เขาต้องการพึ่งเรา ขณะเดียวกัน เราก็ต้องพึ่งเขาด้วย ก็ขอบคุณที่เขาให้ความไว้วางใจ”

อิม เห็นตรงกับ วา ว่า มีคนจำนวนมากในสังคมไทยที่ต้องการความช่วยเหลือในการจัดระเบียบบ้านที่พวกเขาอยู่อาศัย เพราะ “ไลฟ์สไตล์คนมันเปลี่ยนไปแล้ว” และประชาชนต่างยังเครียดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ไม่ว่าจะเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ร้ายแรงอีกในอนาคต “บ้านที่สะอาด” ก็เป็นจุดเริ่มต้นสู่สุขภาพกายและใจที่ดี

แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน

ที่มาของภาพ, แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน

“ครอบครัวอิมสอนมาเสมอว่า การจัดบ้าน ทำความสะอาดบ้าน จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ ทำให้คุณมีพลังบวก ระบบความคิดดี ไม่หงุดหงิด รวมถึงความสัมพันธ์กับคนในบ้านก็ดีด้วย”

และถ้ามีนักจัดระเบียบบ้านแบบแมวบินมากขึ้น “เราคิดว่าน่าจะช่วยชีวิตคนได้เยอะ และสังคมไทยจะน่าอยู่ขึ้น” อิม ทิ้งท้าย พลางมองไปยังห้องของคู่รักผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ตอนนี้กลายเป็นคอนโดฯ สไตล์มินิมัล ดูร่มรื่น และเปี่ยมสีสันด้วยแจกันดอกไม้

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว