ชีวิตคนไทยในปักกิ่ง ในภาวะ “โควิดเป็นศูนย์” ในจีน

ปักกิ่ง

ที่มาของภาพ, Reuters

ในขณะที่ทั่วโลกใช้นโยบายเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 มาหลายเดือนแล้ว แต่จีนยังคงดำเนินนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” อย่างเข้มงวด ด้วยเหตุผลว่า เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน เพราะหากควบคุมการระบาดไม่ได้ จะทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เป็นอันตราย

แม้การออกมาตรการเข้มงวด จนประชาชนนับพันรวมตัวชุมนุมกันในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ ถึงขั้นขับไล่ให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พ้นจากตำแหน่ง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังจากวันที่ 11 เดือน 11 ที่ทางการจีน ประกาศใช้ 20 มาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ที่ทั่วโลกมองว่าผ่อนคลายลงแล้ว แต่ดูเหมือนไม่ใช่เช่นนั้นสำหรับคนในประเทศ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่แสดงอาการเพิ่มขึ้นจากหลักสิบ หลักร้อย เป็นหลักพันในปักกิ่ง  (3,888 ราย ณ 27 พ.ย.) ทำให้สงสัยว่า ผู้ติดเชื้อเหล่านี้มาจากไหน

ลองคุยกับคนจีนหลายคน ทุกคนตอบตรงกันว่า “ผู้ติดเชื้อหน้าใหม่” เหล่านี้คือคนที่ถูกลดวันกักตัว คนที่เดินทางเข้าพื้นที่ หรือเข้าประเทศโดยไม่ต้องมีผลตรวจโควิด หรือตรวจน้อยลง การสันนิษฐานเหล่านี้จริงหรือเปล่าไม่มีใครรู้  แต่สิ่งที่เราเห็นและเป็นจริงนั้น ก็คือเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้น คนเริ่มออกจากบ้านน้อยลง

ปีนี้ ปักกิ่งหนาวช้ากว่าทุกปี แม้เข้าสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายนก็ยังถือว่าไม่หนาวมาก แต่ประชาชนจำนวนมากกลับเลือกการอยู่บ้านแทนการออกจับจ่ายใช้สอย

เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ผู้เขียนไปย่านศูนย์การค้ากลางกรุงปักกิ่ง กลับพบว่าจำนวนคนที่ออกมาเที่ยว กินข้าว ชอปปิ้ง น้อยลงมาก ร้านที่ลูกค้าเคยต่อคิว 2-3 ชั่วโมง มีลูกค้าอยู่แค่ 2-3 โต๊ะ

เมื่อได้คุยกับเพื่อนหลายคนทั้งคนไทย คนจีนและต่างชาติ ทุกคนพูดตรงกันว่าเริ่มรู้สึกกังวล เพราะตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกวัน วันละหลายร้อยคน ประกอบกับไม่เห็นการดำเนินการใดที่เป็นรูปธรรมของรัฐ

ห้างร้าง

ที่มาของภาพ, “วนิดา”

สถานทูต

ที่มาของภาพ, handout

ประตูที่แคบลง

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็น คือ ประตูใหญ่ที่เข้าสู่อาคารที่พักเริ่มเปิดแคบลง ผู้เขียนเคยมีความคิดว่าต่อให้แคบขนาดไหน คิดว่าเชื้อโรคจะเข้าไม่ได้หรือไง แต่ในความจริงการทำทางเข้าออกให้แคบเพื่อที่พนักงานรักษาความปลอดภันจะได้ตรวจอุณหภูมิคนเข้าชุมชนได้ทุกคน

และช่วงกลางสัปดาห์ ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จาก “สาลี่” คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารในปักกิ่ง ที่เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่เธอกำลังเผชิญว่า ลูกต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งครูบอกว่าสถานการณ์อย่างนี้ อาจยาวนานไปถึงตรุษจีน

ส่วนร้านอาหารของเธอนั้น แม้ทางเขตอนุญาตให้เปิดบริการนั่งกินในร้านได้อยู่ แต่ก็แทบไม่มีลูกค้า ทว่าผ่านไปอีกไม่กี่วัน สาลี่ก็โทรมาอีกครั้งและบอกเราว่าตอนนี้ที่ ร้านไม่ให้ลูกค้านั่งแล้ว เปิดแต่เดลิเวอรี่

ในฐานะเจ้าของร้าน แม้ร้านหยุด แต่ค่าเช่าร้านไม่ได้หยุด แม้เห็นใจลูกน้องแค่ไหน ก็จำเป็นต้องตัดสินใจเลิกจ้างลูกจ้างรายวันบางคน เก็บบางคนไว้โดยให้ค่าแรงเล็กน้อยเพื่อความอยู่รอดของร้าน

เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับร้านของสาลี่แค่ที่เดียว คนไทยไม่น้อยที่อยู่ในกลุ่มสื่อสังคมออนไลน์ของจีน ได้แก่ แม่บ้าน พ่อครัว-แม่ครัวตามร้านอาหาร หรือแม้แต่ครูมวย ก็บ่นเรื่องนี้

“แมน” เป็นครูมวยไทยในยิมแห่งหนึ่งกลางกรุงปักกิ่ง แมนบอกว่าปกติเขาจะมีรายได้คือเงินเดือนและเปอร์เซ็นต์จากการขายคอร์ส แต่พอถูกล็อกดาวน์นายจ้างก็ไม่จ่ายเงินเดือน ลูกค้าก็คืนคอร์ส แมนบอกไม่โอเคเลย รู้สึกเบื่อ ไม่รู้จะปิดถึงเมื่อไร และอยากกลับบ้านมาก

การอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่รู้พรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างเปลี่ยนตลอดเวลา รวมถึงความไม่ชัดเจนของนโยบายทำให้คนต่างชาติอย่างเรารู้สึกสับสน การออกมาประกาศหยุดให้บริการต่าง ๆ ชั่วคราวของโรงพยาบาลในปักกิ่งเพราะสถานการณ์โควิด ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้ามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร ต้องไปที่ไหน

ต่อแถวตรวจ

ที่มาของภาพ, “วนิดา”

จุดที่แสดงการพบผู้ติดเชื้อใหม่ในปักกิ่งที่ขึ้นมาในแผนที่ มีจำนวนเยอะมากเหมือนข้าศึกล้อมไว้หมดแล้ว ใคร ๆ ในชุมชนก็พูดกันว่าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นก็มีคนติด ที่ร้านใกล้บ้านก็มีคนติดถือเป็นพื้นที่เสี่ยง

แม้ทางการจะออกมาพร่ำบอกว่า สินค้าอุปโภคบริโภคมีไม่ขาด แต่จะออกไปซื้อได้อย่างไร ในเมื่อสถานที่ซื้อกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง ทุกคนในปักกิ่งก็หวังพึ่งไรเดอร์  ไรเดอร์บางส่วนก็ถูกล็อกดาวน์ ปริมาณคนสั่งสินค้าก็เพิ่ม

จากเดิมที่ผู้เขียนเคยรอครึ่งชั่วโมงกลายเป็นต้องรอครึ่งวัน ของที่ส่งมาจากนอกปักกิ่ง ทั้งในจีนและมาจากนอกประเทศไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ในช่วงนี้นอกจากจะเป็นของที่ได้รับการตรวจสอบจากทางการเท่านั้น

จนมาถึงเมื่อวันพฤหัสที่ 24 พ.ย. ทางการกรุงปักกิ่งออกมาขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการให้คนกว่า 3.5 ล้านคน ที่อยู่ในเขตเฉาหยาง หรือย่านศูนย์กลางธุรกิจของปักกิ่ง (Central Business District – CBD) ให้ทำงานที่บ้านและอยู่ในบ้านไม่ออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งประกาศเปลี่ยนกฏการแสดงผลตรวจโควิดจากเดิม 72 ชั่วโมง เป็น 48 ชั่วโมง

อันนี้น่าจะเรียกว่าล็อกดาวน์ในแบบฉบับของปักกิ่ง เหตุการณ์นี้คุ้น ๆ เหมือนในช่วง พ.ค. ที่ผ่านมาคนปักกิ่งก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราคิดว่าทางการคงอยากดูว่าถ้าไม่มีการเดินทางข้ามเขต โดยเฉพาะเขตที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงจำนวนผู้ติดเชื้อจะยังเพิ่มอยู่ไหม

เมื่อพูดถึงย่าน CBD ปักกิ่ง ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงสถานทูตเพราะสถานทูตไทยก็อยู่ในย่านนั้น สถานทูตเองก็มีการตั้งกลุ่มคนไทยในปักกิ่งทางวีแชท ให้ข้อมูลสถานการณ์ในปักกิ่ง รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อในปักกิ่งและจีน ข้อประกาศต่าง ๆ ที่ทางการปักกิ่งออกมาแถลงในแต่ละวัน เคยคุยกับคนในสถานทูตเขาก็บอกว่าเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือคนไทยทั้งในเรื่องสิ่งของหรือการให้คำปรึกษา แม้จะถูกล็อกดาวน์คนไทยเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้แต่ก็ยังคงทำงานกันอยู่

ผังผู้ติดเชื้อ

ที่มาของภาพ, handout

โควิด

ที่มาของภาพ, “วนิดา”

มาถึงวันศุกร์ที่ 25 พ.ย.  ผู้เขียนเห็นในกลุ่มคนต่างชาติในวีแชทของจีนออกมาโวยวายทั้งเรื่องการปิดสถานที่ตรวจโควิดในชุมชนของพวกเขา รวมถึงระบบคิวอาร์โค้ดสุขภาพของคนในเขตเฉาหยางที่มันขึ้นความผิดปกติ ตอนแรกก็รู้สึกงง งงว่าจะปิดทำไม เพราะกิจกรรมที่เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวที่ทำได้นอกบ้านก็คือการตรวจโควิด แต่สุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย. ทางการก็มาเฉลยว่าเพื่อจัดระบบ ปรับการตรวจ เพื่อให้ผลที่แม่นยำ ไม่เหลื่อมวันเหมือนที่เคยเป็น

ทั้งหมดคือ ความสับสนและความอึดอัดที่แน่นอกของคนปักกิ่งรวมถึงคนจีนในหลายพื้นที่ ที่บางทีก็งงกับความไม่ชัดเจนของนโยบายและการปฏิบัติ และมาระเบิดขึ้นเมื่อฟางเส้นสุดท้ายคือเหตุการณ์ไฟไหม้ในชุมชนแห่งหนึ่งที่เมืองอุรุมชี มีผู้เสียชีวิต (ตามข่าวทางการ) 10 ราย และ 1 ในนั้นคือเด็กอายุ 5 ขวบ

ในโพสต์ทางโซเชียลจีนเล่าถึงสาเหตุของคนที่เสียชีวิตว่าประตูทางออกถูกรัดด้วยลวด ทำให้คนเปิดออกมานอกอาคารไม่ได้ อาคารแห่งนี้ถูกล็อกเพราะโควิดมา 100 วันแล้ว ยังมีภาพบทสนทนาทางวีแชทระหว่างคนในตึกกับผู้ดูแลอาคาร โดยผู้ดูแลอาคารบอกให้กลับเข้าไปอยู่ในห้อง อย่างไม่สนใจเหตุไฟไหม้

คำบอกเล่าเหล่านี้สร้างความสะเทือนใจมาก แทบไม่มีใครที่อ่านแล้วถามว่ามันคือเรื่องจริงไหม เพราะคนส่วนใหญ่ในจีนเคยมีประสบการณ์การถูกล็อก แต่กลับมีคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มันเกินไปมั้ย

ความอึดอัดที่ผสมกับคำถามความสงสัยและความไม่พอใจ ที่หากอยู่ในจีนน่าจะพอจะเข้าใจหลอมรวมจนเกิดเหตุการณ์ประท้วงในหลายพื้นที่ของจีนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อ 28 พ.ย.  สื่อทางการนำเสนอข่าวว่ากรุงปักกิ่งจะออกมาตรการปรับปรุงการควบคุมและป้องกันโควิด-19 โดยมีรายละเอียดมุ่งเน้นไปที่การไม่ปิดช่องทางเข้าออก ทางหนีไฟ ประตูอาคาร และทางเข้าออกชุมชน ที่ดูเหมือนจะเป็นการบอกกับประชาชนโดยนัยว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบที่อุรุมุฉีขึ้นอีก

แต่ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ามาตรการดังกล่าวมันคือวัวหายล้อมคอกที่อาจแก้ไขปัญหาที่ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริงได้ทั้งหมด หรือเพื่อบรรเทาสถานการณ์ความไม่พอใจของมวลชนให้ดีขึ้น

มาตรการล่าสุดที่ออกมา จะลดความไม่พอใจของคนที่ประท้วงในขณะนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

* “วนิดา” เป็นนามแฝงของหญิงไทยที่ทำงานในปักกิ่งมาเป็นเวลา 3 ปี เราไม่สามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเธอได้ เนื่องจากจะกระทบต่อการทำงานของเธอ เช่นเดียวกันคนไทยอื่น ๆ ในเรื่องนี้

รายงาน

ที่มาของภาพ, handout

……….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว