ทั่วโลกถมทะเล 20 ปี ได้แผ่นดินงอกกว้างเท่าลักเซมเบิร์ก

Getty Images เกาะ Palm Jumeirah ซึ่งเกิดจากการถมทะเลที่นครดูไบ

การถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมหรือเพื่อขยายพื้นที่ชายฝั่ง กำลังเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกในอัตราที่น่าตกใจ โดยตลอดระยะเวลาราวสองทศวรรษที่ผ่านมา มีผืนแผ่นดินใหม่งอกเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยวิธีนี้กว่า 2,500 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับขนาดของประเทศลักเซมเบิร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในดินแดนที่เล็กที่สุดของภูมิภาคยุโรป

หากเทียบกับพื้นที่เกาะภูเก็ตที่อยู่ที่ 543 ตร. กม. จะได้ภูเก็ตเกือบ 5 เกาะ

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth’s Future ฉบับล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันของสหราชอาณาจักร ชี้ว่าทั่วโลกมีโครงการถมทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่เริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ในปี 2000 เป็นต้นมา โดยโครงการส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ประเทศในแถบซีกโลกใต้

ดร. ธฤติราช เสนคุปตะ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อดูถึงความเปลี่ยนแปลงของรูปทรงผืนแผ่นดินในเมืองใหญ่ 135 แห่งทั่วโลก ทำให้ทราบว่าจีน อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี เป็นสามประเทศที่มีอัตราการถมทะเลสูงสุดของโลก แค่นครเซี่ยงไฮ้ของจีนเพียงแห่งเดียว ก็มีการถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่ชายฝั่งแล้วถึง 350 ตารางกิโลเมตร

boat

Getty Images
เรือลากจูงกำลังนำทรายปริมาณมากไปถมทะเล เพื่อเพิ่มพื้นที่ชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของสิงคโปร์

โครงการถมทะเลส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการขยายพื้นที่ท่าเรือ รวมถึงความจำเป็นในการขยายพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและพื้นที่อยู่อาศัยของเมืองใหญ่ มีโครงการถมทะเลบางส่วนเท่านั้นที่เน้นใช้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรูหราสำหรับคนร่ำรวย เช่นเกาะต้นปาล์มหรือ Palm Jumeirah ของนครดูไบ

การถมทะเลนั้นส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง โดยมักจะทำให้ป่าชายเลนหรือพื้นที่ชุ่มน้ำริมชายฝั่งถูกถมจนกลายเป็นที่แห้ง ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงในพื้นที่ดังกล่าวยังถูกทำลาย ในระดับที่ไม่อาจฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิมอีกได้

ดร. เสนคุปตะ กล่าวอธิบายว่า “ลองดูความเปลี่ยนแปลงในทะเลเหลือง (Yellow Sea) เป็นตัวอย่าง กว่าครึ่งของพื้นที่บริเวณหาดเลนหรือที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึง (tidal flat) ถูกทำลายจนเราต้องสูญเสียมันไปตลอดกาล เนื่องจากการถมทะเลเป็นสาเหตุหลัก”

ยิ่งไปกว่านั้น ผืนแผ่นดินที่ได้เพิ่มมาจากการถมทะเลยังขาดความแข็งแกร่งคงทน และไม่อาจจะอยู่ได้นานเท่าที่ควร เนื่องจากมีความเสี่ยงจะจมลงใต้มหาสมุทร เมื่อระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในช่วงสิ้นสุดศตวรรษนี้

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว