แมลงสาบไม่กินหวานวิวัฒนาการไปอีกขั้น ใช้เทคนิคใหม่จับคู่ผสมพันธุ์ได้เร็วขึ้น

Getty Images

ก่อนหน้านี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตลอดช่วงเวลาราว 30 ปีที่ผ่านมา เหยื่อล่อแมลงสาบที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกลูโคสที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ได้ทำให้แมลงสาบจำนวนหนึ่งมีวิวัฒนาการเพื่อเอาชีวิตรอด โดยรู้จักหลีกเลี่ยงไม่กินอาหารรสหวานอีกต่อไป

ปัจจุบันแมลงสาบที่มียีนกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้ประสาทสัมผัสที่รับรสหวานกลายเป็นรู้สึกขมเมื่อลิ้มลองน้ำตาลนั้น ได้มีวิวัฒนาการก้าวไปอีกขั้นในเรื่องของพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งการปรับตัวนี้ช่วยส่งเสริมโอกาสในการอยู่รอดและแพร่พันธุ์ได้ดีกว่าแมลงสาบที่มีพันธุกรรมแบบดั้งเดิม

ผลการศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต (NCSU) ของสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B พบว่าแมลงสาบตัวผู้ที่ไม่ติดรสหวาน สามารถหลอกล่อตัวเมียที่มีรสนิยมแบบเดียวกันด้วยของเหลวชนิดพิเศษ พร้อมทั้งจู่โจมอย่างรวดเร็ว จนมีโอกาสผสมพันธุ์ได้สำเร็จมากกว่าแมลงสาบที่ยังกินน้ำตาลกลูโคสอยู่หลายเท่า

ตามปกติแล้วแมลงสาบตัวผู้จะหลั่งของเหลวรสหวานจากต่อมใต้ปีกเอาไว้บนหลัง เพื่อล่อให้ตัวเมียเข้ามาลิ้มลองและจะฉวยโอกาสนี้ผสมพันธุ์ทันที ซึ่งการจับคู่บรรเลงเพลงรักอาจดำเนินไปได้นานถึง 90 นาที

ส่วนประกอบหลักของน้ำหวานที่แมลงสาบตัวผู้ใช้หลอกล่อตัวเมียนั้น เดิมได้แก่น้ำตาลมอลโทสซึ่งจะย่อยสลายกลายเป็นกลูโคสด้วยน้ำลายในปากของตัวเมียได้อย่างรวดเร็ว

แต่การทดลองสังเกตพฤติกรรมของแมลงสาบเยอรมันหลายร้อยตัวในห้องปฏิบัติการ พบว่าแมลงสาบที่ไม่กินหวานจะจับคู่เฉพาะกับพวกเดียวกันเท่านั้น โดยตัวผู้จะผลิตของเหลวที่ไม่หวานให้เป็นอาหารของตัวเมียด้วย

คู่แมลงสาบตัวผู้และตัวเมียกำลังเตรียมผสมพันธุ์

WADA-KATSUMATA
คู่แมลงสาบตัวผู้และตัวเมียกำลังเตรียมผสมพันธุ์

ของเหลวชนิดพิเศษดังกล่าวคือมอลโทไตรโอส (maltotriose) น้ำตาลที่มีโครงสร้างโมเลกุลซับซ้อน ซึ่งจะสลายตัวกลายเป็นสารให้ความหวานได้ช้ามาก โดยต้องใช้เวลานานถึง 5 นาที กว่าที่เอนไซม์ในน้ำลายของแมลงสาบตัวเมียจะย่อยมันให้เป็นน้ำตาลมอลโทสและสามารถรับรู้ถึงรสชาติที่แท้จริงได้

ด้วยเหตุนี้ แมลงสาบตัวผู้ที่ไม่กินหวานจึงมีโอกาสสูงกว่า ในการจับตัวเมียที่มัวอ้อยอิ่งกินของเหลวบนหลังตัวผู้มาผสมพันธุ์ได้สำเร็จ โดยที่ตัวเมียไม่ผละหนีไปเสียก่อน

แมลงสาบตัวผู้ที่ไม่ติดรสหวานยังจู่โจมตัวเมียอย่างรวดเร็ว โดยสามารถตวัดอวัยวะเพศเข้าในร่างกายของตัวเมียได้ภายในเวลาเพียง 2.2 วินาที หลังจากตัวเมียไต่ขึ้นกินของเหลวบนหลัง ซึ่งนับว่ารวดเร็วกว่าแมลงสาบพวกที่กินน้ำตาล 1.2 วินาที ทำให้แมลงสาบไม่กินหวานประสบความสำเร็จในการแพร่พันธุ์ถึงกว่า 60% ในขณะที่แมลงสาบอีกพวกมีโอกาสทำได้สำเร็จราว 50% เท่านั้น

ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า “ถึงแม้วิวัฒนาการด้านประสาทรับรสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วรุ่น จะทำให้แมลงสาบที่ไม่กินน้ำตาลกลูโคสต้องพบข้อจำกัดในการจับคู่ผสมพันธุ์ แต่พวกมันก็มีการปรับตัวด้านพฤติกรรมทางเพศมาชดเชย จนทำให้ประสบความสำเร็จในการแพร่พันธุ์ได้ในที่สุด”

  1. หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว