Music Talk by ท้องฟ้าสีเทา
กระแสเพลงหรือศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่ฮือฮาโด่งดังขึ้นมาในแง่เนื้อหาการด่าทอผู้มีอำนาจ วิพากษ์สังคม มีอยู่ 2 ระลอกที่ทำให้เรานึกถึงวงดนตรีรุ่นใหญ่ตัวพ่อแห่งการด่ารัฐบาลและวิพากษ์การเมือง นั่นก็คือวง Rage Against The Machine วงแรปเมทัล จากประเทศสหรัฐอเมริกา
แน่นอน ระลอกที่สองที่ว่าก็คือตอนที่เพลง “ประเทศกูมี” ของกลุ่มแรปเปอร์นาม Rap Against Dictatorship เป็นกระแสฮือฮาขึ้นมาเมื่อวันสองวันนี้แหละ
ส่วนระลอกแรกคือ การแจ้งเกิดของวง Bomb At Track วงแรปเมทัลรุ่นใหม่วัย 20 ต้น ๆ เจ้าของเพลงด่าทอผู้มีอำนาจและวิพากษ์สังคมหลายเพลง
แม้โดยส่วนตัวไม่เคยคุยกับทั้งสองศิลปินนี้ และมีข้อมูลพวกเขาน้อยมาก แต่ค่อนข้างมั่นใจว่า Rage Against The Machine คือหนึ่งในต้นแบบความเกรี้ยวกราดของศิลปินไทยทั้งสองกลุ่มนี้
เหตุผลที่มั่นใจน่ะหรอ ก็ดูจากชื่อของศิลปินทั้งสองกลุ่มนี่แหละ
Rap Against Dictatorship ชื่อมาขนาดนี้แล้ว จะไม่ให้คิดว่ามีอะไรเชื่อมโยง หรือไม่คิดว่าได้แรงบันดาลใจจาก Rage Against The Machine ก็คงยาก
ส่วน Bomb At Track ก็อีกนั่นแหละ ชื่อวงนี้ เรามั่นใจ 99% ว่ามาจากเพลง Bomb Track แทร็กแรกในอัลบั้มเปิดตัวของ Rage Against The Machine ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1992
ทีนี้จะมาพูดถึงวีรกรรมความดุเดือดเกรี้ยวกราดที่ Rage Against The Machine แสดงออกผ่านบทเพลงมาอย่างยาวนาน
(ไม่รู้จะเหมือนมาเล่าประวัติวงให้ฟังน่าเบื่อหรือเปล่า แต่จะพยายามไม่ให้น่าเบื่อค่ะ)
Rage Against The Machine (ต่อไปจะเรียกย่อว่า RATM) เป็นวงดนตรีที่มีพื้นเพอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เปิดตัวอัลบั้มแรกในปี 1992 คนฟังเพลงก็ได้เห็นแนวทางที่ชัดเจนของพวกเขาทั้งในพาร์ตดนตรีแรปเมทัล ซึ่งในยุคนั้น (ยุคที่ต่อมาถูกเรียกว่า “ยุคนูเมทัล”) ก็มีศิลปินที่ทำเพลงเพลงแรปเมทัลกันเยอะแยะ แต่ว่ารายละเอียดทางดนตรีของ RATM นั้นแตกต่างและโดดเด่นกว่าวงอื่นมาก
อีกพาร์ตหนึ่งที่สำคัญในประเด็นของเราวันนี้ก็คือเนื้อเพลง เอกลักษณ์ ลายเซ็นของ RATM คือเนื้อเพลงที่พูดเรื่องการเมือง และความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งมักจะพูดเรื่องใหญ่ ๆ ไม่ใช่บ่นเรื่องจุบจิบยิบย่อย ที่สำคัญคือพูดอย่างเกรี้ยวกราด และหยาบคาย
เมื่อดนตรีมัน ๆ กับเนื้อเพลงเดือด ๆ รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน มันช่างเป็นเพลงต้านอำนาจ ด่าทอรัฐบาล และวิพากษ์สังคมได้อย่างเมามันดีแท้
และผลงานเพลงของ RATM ทั้ง 4 อัลบั้มก็ไม่เคยหลุดจากคอนเซ็ปต์การเป็นวงดนตรีวิพากษ์การเมืองเลย
จนกระทั่งในปี 2000 แซค เดอ ลา โรชา ( Zack de la Rocha) ประกาศแยกตัวออกจากวง ทำให้วงต้องพักไปโดยปริยาย แม้จะมีช่วงหนึ่งที่พวกเขากลับมารวมตัวกันออกทัวร์คอนเสิร์ตในปี 2007-2011 แต่ก็ไม่ได้มีผลงานใหม่ออกมาอีกเลย
ถึงแม้ต้องหยุดการทำเพลงในชื่อ RATM แต่การวิพากษ์การเมือง ด่ารัฐบาล ประจานสังคมฟอนเฟะ ยังไม่หยุด เพราะน้าทอม โมเรลโล (Tom Morello) มือกีตาร์แกนนำของวงที่มีดีกรีเกียรตินิยมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด แกมักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเสมอ ๆ และแกก็มีไปทำไซด์โปรเจ็กต์อะไรของแกไป ซึ่งเนื้อหาก็ยังไม่พ้นเรื่องการเมืองอยู่ดี
จนถึงวันที่น้าทอมแกอดรนทนไม่ได้ อยากกลับมาแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านบทเพลงมัน ๆ แบบเดิม แต่ติดที่ว่านักร้องนำไม่อยากกลับมาทำวง แกจึงชวนพรรคพวกสมาชิกวงที่เหลือ คือ มือเบส ทิม คอมเมอร์ฟอร์ด (Tim Commerford) และมือกลอง แบรด วิลก์ (Brad Wilk) มาฟอร์มทีมใหม่ร่วมกับแรปเปอร์และดีเจรุ่นใหญ่กระดูกเบอร์เดียวกัน คือ แรปเปอร์ B-Real แห่ง Cypress Hill และ แรปเปอร์ Chunk D แห่ง Public Enemy บวกกับ DJ Lord อีกคนจาก Public Enemy
…แน่นอนว่าคนชื่อชั้นระดับนี้มารวมกันต้องถูกยกให้เป็น super group ซึ่ง super group กลุ่มนี้มีนามว่า “Prophets of Rage”
Prophets Of Rage สานต่อแนวคิดจิตวิญญาณ RATM ตามชื่อวงที่ชัดเจนอยู่แล้ว
หลังจากฟอร์มทีมกันในปี 2016 สร้างความตื่นเต้นให้แฟน ๆ อยู่พักหนึ่ง Prophets Of Rage ก็เปิดตัวอีเวนต์ใหญ่โตเพื่อต่อต้านการขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี ของโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 17 มกราคม 2017 ชื่องาน Anti-Inaugural Ball มีศิลปินอีกหลายรายเข้าร่วมแสดงพลัง หนึ่งในนั้นคือวง Audioslave อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ของ 3 สมาชิกวง RATM ที่มี คริส คอร์แนลล์ (Chris Cornell) เป็นนักร้องนำ
ความน่าทึ่งถ้ามองจากบ้านเราก็คือ งาน Anti-Inaugural Ball ที่ประกาศล่วงหน้าว่าจัดขึ้นมาต้านประธานาธิบดีแท้ ๆ ก็ยังสามารถจัดได้ตามสบาย ไม่โดนก่อกวน ไม่โดนล่ม ! วิดีโอบันทึกการแสดงสดก็เผยแพร่ทั่วไปไม่โดนตามลบอีก ! ทุกวันนี้ก็ยังหาดูได้
นับตั้งแต่เป็น Rage Against The Machine มาจนถึง Prophets Of Rage ในทุกวันนี้ น้าทอมและชาวคณะแกด่าวิพากษ์วิจารณ์การเมืองมาแล้ว 20 กว่าปี กับเพลง 50 กว่าเพลง แต่เท่าที่หาข้อมูลยังไม่เคยมีปัญหาโดนจับ โดนเตือน หรือโดนแบนเพลง (หรือถ้าเคยมีกรุณาชี้แนะผู้เขียนด้วยค่ะ) โดยภาพรวม เพลงทุกเพลงเผยแพร่สาธารณะได้ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ขายได้ในตลาดกระแสหลักทั่วไป และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่าง ๆ อีก
ที่สำคัญปีนี้มีประกาศออกมาแล้วว่า Rage Against The Machine เป็นหนึ่งในศิลปินที่มีลุ้นถูกจารึกชื่อในหอเกียรติยศร็อกแอนด์โรลล์ หรือ Rock And Roll Hall Of Fame ประจำปี 2019 ด้วยค่ะ
ที่ Rage Against The Machine พูดได้ แสดงความเห็นได้ ต่อต้านได้ ประท้วงได้ มันเป็นเพราะอะไรน๊า…
เพราะประเทศอเมริกามี…
มีอะไรที่ประเทศไทยไม่มี ?
เติมคำตอบลงใน… กันเอาเองจ้า ไม่อยากพูดเยอะ ไม่ได้เจ็บคอ แต่กลัว…