Music Streaming รันวงการเพลงอังกฤษ โตกระโดด เงินสะพัดพันล้านปอนด์

คอลัมน์ Music talk โดย ท้องฟ้าสีเทา
สวัสดีปีใหม่คุณผู้อ่านทุกท่าน Music Talk ขอเปิดศักราชใหม่ด้วยการหยิบเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจ เงิน ๆ ทอง ๆ ในอุตสาหกรรมดนตรีในสหราชอาณาจักรมาเล่าสู่กันฟัง

ด้วยความที่อังกฤษเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมดนตรี ไม่ว่าจะในด้านการผลิต-ธุรกิจเพลง ซึ่งมีค่ายเพลงและศิลปินดังมากมาย ผลงานเพลง 1 ใน 8 ของอัลบั้มเพลงทั้งหมดในโลกนี้ที่ออกมาสู่หูคนฟังนั้นก็เป็นผลงานจากศิลปินอังกฤษ หรือในด้านการบริโภคดนตรี อังกฤษก็เป็นตลาดใหญ่อันดับต้นของโลกเช่นกัน ดังนั้น เราคิดว่าความเคลื่อนไหวและความเป็นไปของอุตสาหกรรมดนตรีในอังกฤษและสหราชอาณาจักรจึงส่งผลและเป็นภาพสะท้อนความเป็นไปของอุตสาหกรรมดนตรีทั้งโลกด้วย

เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ตอนที่บริการมิวสิกสตรีมมิ่ง (music streaming) เริ่มเข้ามามีบทบาทในการฟังเพลงของผู้คน เคยมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างค่ายเพลง ศิลปิน กับผู้ให้บริการมิวสิกสตรีมมิ่งเหล่านี้ ว่า ส่วนแบ่งรายได้ที่ค่ายเพลงและศิลปินได้รับจากผู้ให้บริการยังไม่สมน้ำสมเนื้อ และยังมีการพูดถึงประเด็นที่ว่าสตรีมมิ่งจะมาฆ่าฟิสิคอลโปรดักต์ (physical product) อย่างแผ่นซีดีให้สิ้นซาก ท่ามกลางความกังวลของคนที่รักและอยากให้สินค้าเหล่านี้มีอยู่ต่อไป ซึ่งมีคนกลุ่มนี้อยู่จำนวนไม่น้อย (เช่นผู้เขียนเองก็ยังรักการซื้อซีดีอยู่)

แต่ผ่านเวลามาถึงตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ต่อให้ไม่มีสตรีมมิ่งซีดีซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันก็ไม่มีทางจะโต นับวันมีแต่ถดถอย

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับเม็ดเงินที่ผู้คนในสหราชอาณาจักรจ่ายไปกับการใช้บริการมิวสิกสตรีมมิ่งที่ทะลุ 1 พันล้านปอนด์ไปแล้ว ข้อมูลที่กำลังจะพูดถึงนี้ยิ่งเป็นการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า มิวสิก สตรีมมิ่งไม่ได้มาทำลาย แต่คือผู้มารันวงการเพลงต่อไปต่างหาก

จากการที่ Entertainment Retailers Association (สมาคมผู้ค้าปลีกบันเทิง หรือ ERA เป็นองค์กรการค้าของสหราชอาณาจักร) เปิดเผยข้อมูลที่อ้างอิงจาก The Official Charts Company (เป็นบริษัทจัดเก็บสถิติอุตสาหกรรมดนตรีในสหราชอาณาจักร) และ British Phonographic Industry (องค์กรตัวแทนอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงบริติช หรือ BPI) ว่า ปี 2019 เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจมิวสิกสตรีมมิ่งภายในสหราชอาณาจักรมีจำนวนเกิน 1 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นครั้งแรก ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าจาก 5 ปีก่อน (ปี 2014) และมากถึง 31 เท่าจากปี 2010

เมื่อเอาตัวเลขรายได้อุตสาหกรรมดนตรียูเคปี 2019 มากางดูรายละเอียด ตัวเลขเป็นดังนี้

ฟิสิคอลโปรดักต์ 318.1 ล้านปอนด์ ลดลง 17% จากปี 2018 ที่มีรายได้ 383.2 ล้านปอนด์

ดาวน์โหลด 89.7 ล้านปอนด์ ลดลง 26.8% จากปี 2018 ที่มีรายได้ 122.6 ล้านปอนด์

สตรีมมิ่ง 1,002.9 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 23.5% จากปี 2018 ที่มีรายได้ 812 ล้านปอนด์

รวมทุกช่องทางอุตสาหกรรมดนตรีสหราชอาณาจักรทำเงิน 1,410.7 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 7.1% จากปี 2018 ที่ทำยอดไว้ 1,317.8 ล้านปอนด์

จากตัวเลขชุดนี้จะเห็นว่า ในปี 2019 แฟนเพลงในยูเคใช้เงินรวม 1 พันล้านปอนด์ในการรับบริการสตรีมมิ่งแบบสมัครสมาชิก ซึ่งมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับการจ่ายสำหรับซื้อฟิสิคอลโปรดักต์และการดาวน์โหลดเพลงที่รวมกันแล้วเป็นเงิน 407.8 ล้านปอนด์

ขณะที่สินค้าที่จับต้องได้และการดาวน์โหลดเสื่อมความนิยมลงเรื่อย ๆ โดยทำรายได้ลดลง 20% จากปี 2018 แต่ด้วยอัตราการเติบโตของบริการสตรีมมิ่งที่โตขึ้น 23.5% ทำให้ปี 2019 เป็นปีที่รายได้ของค่ายเพลงในสหราชอาณาจักรเติบโตติดต่อกันเป็นปีที่ 5

คิม เบย์ลีย์ (Kim Bayley) ซีอีโอ ERA แสดงความเห็นกับเรื่องนี้ว่า มีคนสมัครใช้บริการสตรีมมิ่งมากขึ้น ๆ เห็นได้ชัดว่ามันเป็นความท้าทายที่จะรักษาอัตราการเติบโต แต่ในความเป็นจริงปี 2019 แฟนเพลงในสหราชอาณาจักรจ่ายเงินเพื่อสมัครบริการสตรีมมิ่งมากกว่าที่เคยจ่ายในปีก่อนหน้าถึง 190 ล้านปอนด์ ซึ่งนั่นเป็นมูลค่ามากกว่า 2 เท่าของตลาดแผ่นเสียงไวนิล

“การเพิ่มขึ้นของผู้ให้บริการความบันเทิงทางดิจิทัล เป็นการปฏิวัติพฤติกรรมการพักผ่อนของชาวยูเคครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้คนเข้าถึงเพลง วิดีโอ และเกมที่พวกเขารักได้ทุกที่ทุกเวลาที่พวกเขาต้องการ และเปลี่ยนชะตาของค่ายเพลง ผู้สร้างหนัง และนักพัฒนาเกม ข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 2019 กว่า 80% ของการใช้จ่ายด้านความบันเทิงนั้นอยู่ในบริการดิจิทัล แสดงให้เห็นถึงระดับของการปฏิวัติที่ว่านั้น”

นอกจากอุตสาหกรรมดนตรีแล้ว รายได้จากช่องทางดิจิทัลในภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง ทั้งเพลง หนัง และเกม ล้วนแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่ายอดขายฟิสิคอลโปรดักต์จะลดลง แต่ความต้องการบริการทางดิจิทัลก็แข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้ตลาดโดยรวมโตขึ้น 2.4% เป็น 7.8 พันล้านปอนด์ ซึ่งนับเป็นการเติบโตขึ้นปีที่ 7 ติดต่อกัน

ชัดเจนแล้วว่าสตรีมมิ่งไม่ใช่สิ่งที่มาทำลาย อย่างที่พูดไปแล้วนิดนึงในตอนต้นว่า ต่อให้สตรีมมิ่งไม่มา แผ่นซีดีก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกของผู้คนจำนวนมากเหมือนสมัยก่อนอยู่แล้ว ตรงกันข้าม การมาถึงของบริการสตรีมมิ่งเป็นอะไรที่ win-win ทั้งสำหรับผู้สร้างสรรค์ ผู้ให้บริการ และผู้บริโภค เมื่อการเข้าถึงเพลงเป็นเรื่องง่ายขึ้น ผู้คนก็ใช้บริการมากขึ้น เงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมนี้ก็มากขึ้น

ลองนึกย้อนไปสมัยที่เรายังต้องพกเครื่องเล่นซีดีและกระเป๋าใส่แผ่นซีดีติดตัวไปไหนต่อไหน เพื่อจะเลือกเปิดเพลงฟัง ซึ่งเราก็ได้ฟังเพลงจำกัดเฉพาะที่เราซื้อแผ่นมาเท่านั้น ถามว่าในคน 100 คนจะมีสักกี่คนที่ทุ่มเทขนาดนั้นเพื่อที่จะได้ฟังเพลง แต่ในยุคนี้ที่ไม่ต้องแม้แต่ดาวน์โหลดไฟล์เก็บไว้ในเครื่อง ไม่ว่าจะทำกิจกรรมเคลื่อนที่อยู่ส่วนไหนของโลกเราก็สามารถหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาค้นหาเพลงฟังได้มากถึง 50 ล้านเพลง ในยุคหลังจึงมีจำนวนคนที่จ่ายเงินเพื่อฟังเพลงมากกว่ายุคซื้อเทป ซื้อแผ่นซีดีอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ใช่แค่ค่ายเพลงและศิลปินหรอกที่ต้องขอบคุณผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องขอบคุณเช่นกันที่ทำให้เราฟังเพลงได้ด้วยวิธีที่ง่ายขึ้น และฟังได้ทุกที่ ทุกเวลา