#ฝนร้อยปี ปรากฏการณ์แห่งสายฝนที่น่ากลัว แต่ไม่ควรตระหนก

#ฝนร้อยปี ปรากฏการณ์แห่งสายฝน

รู้จัก #ฝนร้อยปี ปรากฏการณ์ฝนตกหนักที่น่ากลัว สร้างผลกระทบหนัก แต่ไม่ควรตระหนก

ย้อนไปเมื่อ 31 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ออกมาเตือนประชาชนว่า ช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยอาจจะเจอเหตุการณ์ฝนร้อยปี มีปริมาณฝนตกหนักมากขึ้น และระยะเวลายาวขึ้น อีกทั้งยังมีการเตือนว่ามีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมคล้ายเมื่อปี 2554 เพราะปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับช่วงเวลาดังกล่าว

ทันทีที่มีการเตือนดังกล่าว ทำให้หลายคนเริ่มกังวลถึงสถานการณ์น้ำในช่วงเวลานี้ ประกอบกับการเกิดพายุฝนที่มีมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคืนวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่มีฝนตกหนักมากในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จนทำให้พื้นที่สำคัญหลายจุดเกิดน้ำท่วมขัง ยิ่งสร้างความกังวลใจต่อสถานการณ์น้ำมากขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนรู้จักและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ #ฝนร้อยปี ให้มากขึ้น

ฝนร้อยปี คืออะไร?

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ให้รายละเอียดของปรากฏการณ์ฝนร้อยปีว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดฝนตกหนักที่สุดในรอบ 100 ปี หรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและกินเวลายาวนานกว่าปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ใน 100 ปีข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องครบ 100 ปีแล้วจะเกิดขึ้น และอาจทำให้เกิดอุทกภัยซ้ำร้อยกับเหตุก่อนหน้า อย่างมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554

อีกหนึ่งคำที่มีความใกล้เคียงกับเหตุการณ์ดังกล่าว คือ Extreme Weather หรือปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้วแปรปรวน ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วจากเหตุการณ์เมฆดำทะมึน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นที่สนใจของโลกออนไลน์และเกิดความกังวลอย่างมาก

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สภาพภูมิอากาศสุดขั้วเกิดจากความแปรปรวนของโลก หลังจากที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมกันมานาน และยังคงปล่อยต่อไป กลายเป็นภัยพิบัติที่จะสร้างผลกระทบสาหัส โดยเฉพาะประเทศที่กำลังเปราะบางทางเศรษฐกิจ

ฝนร้อยปี หรือเหตุการณ์ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลาย ๆ พื้นที่ อย่างเหตุการณ์ฝนตกหนักที่ปากี่สถาน เกิดฝนตกหนัก 8 สัปดาห์ติดต่อกัน พร้อมกับการละลายของธารน้ำแข็งจากสภาวะโลกร้อน จนทำให้ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเท่าตัว

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสนใจ คือ เหตุการณ์น้ำท่วมทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ปี 2562 ที่ปริมาณฝนที่ตกลงมามีมากกว่าปกติอย่างมาก ทำให้เกิดน้ำท่วม ประชาชนในเมืองทาวส์วิลล์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ และมีบ้านเรือนราว 20,000 หลังคาเรือนที่เสี่ยงถูกน้ำท่วม โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดครั้งแรกในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา

ไม่นานมานี้ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักตลอดช่วงค่ำวันที่ 8 สิงหาคม 2565 และทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง จนทะลักเข้าพื้นที่รถไฟฟ้าใต้ดิน จนถึงพันจีฮา หรือบ้านใต้ดิน ทำให้มีผู้เสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก นับเป็นเหตุการณ์ฝนตกหนักที่สุดในรอบ 80 ปี และนำไปสู่การเตรียมห้ามสร้างบ้านชั้นใต้ดิน เพื่อความปลอดภัย

แก้-รับมือ ฝนร้อยปี อย่างไร?

การแก้ปัญหาฝนร้อยปีหรือการป้องกันอุทกภัย มีตั้งแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างการขุดลอกคลอง ลอกท่อระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ การหาพื้นที่หน่วงน้ำ หาพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อรับน้ำ และการแก้ปัญหาระยะยาว อย่างโครงการ Delta Works สร้างเขื่อนยักษ์กั้นปากแม่น้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศเนเธอร์แลนด์

นอกจากการสร้างอุปกรณ์เพื่อรับมือกับน้ำท่วม การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยคาดการณ์และวางแผนป้องกันน้ำท่วม ผ่านการกำหนดฉากทัศน์ (Scenarios) หรือการใช้ข้อมูล Big Data ในการวางแผนเพื่อรับมือเหตุน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะสามารถช่วยให้รับมือและป้องกันหรือลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุอุทกภัยได้