วิธีตรวจสอบตัวเอง เสี่ยงเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ-หลอดเลือด?

รพ.เวชธานี เตือนคนไทยเสี่ยงเป็นเบาหวาน ความดัน และไขมัน ตั้งแต่อายุน้อย เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด แนะวิธีตรวจสอบตัวเอง รับประทานอาหารลดเสี่ยง คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจ-หลอดเลือด เฉลี่ยชม.ละ 7 คน

วันที่ 9 ตุลาคม 2565 ในงานเปิดโครงการ Econmass Fit Hero ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เครือข่ายคนไทยไร้พุง และโรงพยาบาลเวชธานี เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้แก่สมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเข้าใจสาเหตุของการเกิดโรคร้าย เช่น เบาหวาน ความดัน อันนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตวาย

แพทย์หญิงทรายด้า บูรณสิน อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และไขมัน ตั้งแต่อายุยังน้อย ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ทำให้เสี่ยงเป็นโรคต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน พบได้ในทุกช่วงวัย แต่จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่พบได้บ่อย คือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือการที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ซึ่งมีทั้งแบบเรื้อรังและเฉียบพลัน หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “หัวใจวาย” เป็นภาวะที่ทำให้เสี่ยงเสียชีวิตแบบกะทันหัน

แพทย์หญิงทรายด้ายังระบุว่า อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยขณะออกแรง เพลีย นอนราบไม่ได้ เจ็บหน้าอก ทั้งแบบทันทีทันใด หรือเจ็บแบบเป็น ๆ หาย ๆ จุกเสียดลิ้นปี่ หายใจไม่ค่อยออก แน่นหน้าอกคล้ายมีของหนักทับ อาจร้าวไปที่คอ หัวไหล่ หรือแขนด้านซ้าย

ซึ่งจะมีอาการประมาณ 20-30 นาที นั่งพักแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ในรายที่รุนแรง หรือเป็นแบบเฉียบพลันอาจหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น มักเกิดในผู้ชายที่อายุมากกว่า 45 ปี ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี หรือวัยหมดประจำเดือน รวมถึงกลุ่มที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เผาผลาญพลังงานได้น้อย เกิดไขมันสะสม มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ตลอดจนผู้ป่วยโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

“ผู้ป่วยเบาหวานเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากเป็นอันดับ 1 เพราะระดับน้ำตาลสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงผิดปกติและเสื่อมสภาพเร็ว ส่วนความดันโลหิตสูงจะทำให้หัวใจทำงานหนัก ผนังหัวใจหนาตัว หัวใจโต หลอดเลือดหัวใจหนาและแข็งตัว จนทำให้หัวใจขาดเลือดและหัวใจวาย ไม่ต่างจากไขมันในเลือดสูงที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหัวใจวายในที่สุด ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้ หากเป็นตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น” แพทย์หญิงทรายด้ากล่าว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พบผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง จนนำมาสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น และพบในกลุ่มคนอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมันทรานส์ เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหาร Fast Food เบเกอรี่ ครีมเทียม เนยเทียม มาการีน รวมถึงอาหารทอดต่าง ๆ โดยไขมันทรานส์จะไปเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) และลดระดับไขมันดี (HDL) ทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมเร็วกว่าปกติ จึงส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมา หากบริโภคในปริมาณที่เกินพอดี หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคได้ไม่เกินวันละ 2.2 กรัม หรือ 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค

ดังนั้น หากสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือเจ็บจุกเหมือนมีอะไรกดทับที่หน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจไม่สุด เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น อาจบ่งชี้ได้ว่าหลอดเลือดหัวใจมีภาวะตีบมากกว่าร้อยละ 50 ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

ประกอบด้วย 1.การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography) ด้วยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจหาภาวะตีบ ตัน หรือรั่ว 2.การสวนหัวใจหรือฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูทางเดินหลอดเลือดหัวใจ และดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของลิ้นหัวใจ หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง แพทย์จะพิจาณารักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจเพื่อใส่ขดลวดค้ำยัน เพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตกะทันหันได้

แพทย์หญิงทรายด้ากล่าวว่า การดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่เพิ่มไขมันดีและลดไขมันเลว รวมถึงไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ซึ่งเป็นไขมันที่เกิดจากน้ำตาล แป้ง หรืออาหารที่ทำให้อิ่มท้องได้นาน เพราะถ้ามีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงก็จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและลดไขมันในเลือด พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้คุณภาพ และหลีกเลี่ยงภาวะเครียด