อภ.เตรียมทดสอบวัคซีนโควิดของคนไทยเฟส 3 ตั้งเป้าฉีดอาสาสมัคร 4 พันคน

รู้จัก
ภาพจาก pixabay

อภ.เตรียมทดสอบวัคซีนโควิดโดยคนไทยเฟส 3 เริ่มวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ใน จ.นครพนม ตั้งเป้าฉีดอาสาสมัคร 4,000 คน โดยคาดว่าจะสามารถยื่นผลให้ อย.พิจารณาขึ้นทะเบียนได้กลางปี 2566

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 มติชน รายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดนครพนม นพ.เกรียงไกร ประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีนเอชเอ็กซ์พี จีพีโอแวค (HXP-GPOVac) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมทดสอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อฉีดในอาสาสมัคร ระยะที่ 3 ว่า ได้เริ่มฉีดวัคซีนเอชเอ็กซ์พีฯ ในกลุ่มอาสาสมัครระยะที่ 2 จำนวน 300 คน ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

โดยพบว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ไม่ต่างจากวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นที่มีฉีดในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นราวร้อยละ 20 วัคซีนเอชเอ็กซ์พีฯ มีอาการน้อย เช่น ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด แต่อาการไข้พบได้น้อย ซึ่งครั้งนี้เป็นการเริ่มฉีดวัคซีนระยะที่ 3 ในกลุ่มอาสาสมัคร จำนวน 4,000 คน โดยจะเป็นการฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) เข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 10 ไมโครกรัม (มคก.) เพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ สาเหตุที่เลือกจังหวัดนครพนม ศึกษาวัคซีนเอชเอ็กซ์พีฯ ระยะที่ 3 เพราะเป็นโครงการต่อเนื่องจากระยะที่ 2 โดยจะเปิดโรงฉีดวัคซีน 2 จุด คือ ศาลากลางจังหวัดนครพนม และจุดฉีดวัคซีน อ.นาแก

“การศึกษาฉีดเข็มกระตุ้น กำหนดว่าอาสาสมัครที่จะรับวัคซีนเอชเอ็กซ์พีฯ จะต้องได้รับวัคซีนชนิดเหมือนกัน 2 เข็ม คือ ซิโนแวค 2 เข็ม หรือแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือไฟเซอร์ 2 เข็ม หรือโมเดอร์นา 2 เข็ม รับหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วจะมีการติดตามผล โดยการเจาะเลือดอาสาสมัครมาตรวจในระยะ 14 วัน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อนำผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันไปลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำมาใช้เป็นวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยต่อไป” นพ.เกรียงไกรกล่าว

สำหรับจุดฉีดวัคซีน จะแบ่งเป็น 1.จุดลงทะเบียน 2.ตรวจสอบและยืนยันคุณสมบัติการรับวัคซีน 3.จุดคัดกรองและขอความยินยอมเข้าร่วมโครงการ โดยอาสาสมัครได้จะได้รับคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 4.การตรวจวัดชีพจร ดูความดันโลหิต ความพร้อมของร่างกาย ตรวจ ATK 5.จุดฉีดวัคซีน โดยมีแพทย์ พยาบาลคอยดูแลเรื่องความปลอดภัย จากนั้น 6.จุดสังเกตอาการ 30 นาที เพื่อดูความปลอดภัยหลังรับวัคซีน พร้อมติดตามผลข้างเคียง 1 ปี และ 7.จุดตรวจสอบเอกสารหลังรับวัคซีน

“คุณสมบัติอาสาสมัครรับวัคซีน 1.อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป 2.เป็นผู้มีสุขภาพดี หรือถ้ามีโรคประจำตัวก็ต้องคุมอาการให้คงที่ได้ เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ และแพทย์มีความเห็นว่าสามารถฉีดได้ 3.ไม่มีประวัติติดเชื้อมาในระยะ 3 เดือน และ 4.ผลตรวจ ATK เป็นลบ

โดยทั้งหมดนี้ไม่มีข้อห้ามในผู้สูงอายุ สำหรับการทดสอบระยะที่ 3 จะเริ่ม 2 ช่วง คือ วันที่ 23-29 ธันวาคม 2565 และ วันที่ 5-11 มกราคม 2566 ขณะนี้อาสาสมัครใน จ.นครพนม มีประมาณ 1,500 ราย คละกันทั้งวัยทำงานและผู้สูงอายุ ทั้งแข็งแรงและมีโรคประจำตัว คาดว่าเมื่อเริ่มฉีดวัคซีนแล้วก็จะมีอาสาสมัครเข้ามาเพิ่ม” นพ.เกรียงไกรกล่าว

ด้าน ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายชีววัตถุรักษาการผู้จัดการโรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ กล่าวว่า การทดสอบระยะที่ 3 จะมีการใช้วัคซีนคู่เปรียบเทียบเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ที่มีการฉีดในประเทศไทย เพื่อทดสอบระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ต้องการเร่งฉีดในอาสาสมัคร 4,000 คน ให้แล้วเสร็จช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 จากนั้นก็จะติดตามผล 14 วันหลังฉีด เพื่อเจาะเลือดอาสาสมัคส่งไปทดสอบ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงคาดว่ากลางปีนี้ จะได้ข้อมูลเรียบร้อยและผ่านคณะกรรมการต่าง ๆ สรุปผล เพื่อยื่นให้กับ อย.พิจารณาขึ้นทะเบียน

อย่างไรก็ตาม การทดสอบในระยะที่ 2 และ ระยะที่ 3 จะมีการวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ด้วย อย่างสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนที่พบว่าระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนทุกชนิดลดลง เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตมาจากสายพันธุ์ตั้งต้นคือ อู่ฮั่น แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรค

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากอาสาสมัครไม่ถึงเป้าหมาย 4,000 คน เพราะคนไทยได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากแล้ว จะต้องทำอย่างไร ภญ.พรทิพย์ กล่าวว่า จ.นครพนม เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ร่วมรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนหนึ่งทางพื้นที่ก็ช่วยรณรงค์ให้มีอาสาสมัครเข้ามาในโครงการเอชเอ็กซ์พีฯ จึงคาดว่าจะได้อาสาสมัครครบ ทั้งนี้ หากไม่ได้ครบตาม โครงการ ก็จะปรึกษา อย. เพื่อปรับเปลี่ยนโปรโตคอล แต่ด้วยจะต้องมีการคำนวณทางสถิติ ดังนั้น ถ้าลดลงก็จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่เชื่อว่าจะทำได้ตามแผนที่คาดไว้