ครม. ขยายมาตรการภาษีลดโลกร้อน ภาคสมัครใจถึงปี 70

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก

ครม.ขยายเวลามาตรการภาษีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 31 ธ.ค. 70 จูงใจเอกชน-ประชาชน มุ่งหน้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน

วันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) รวม 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ฉบับแรก ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ… . มีสาระสำคัญเป็นขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) โดยยกเว้นภาษีให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 (จากเดิมที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563) เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีจำนวนมากขึ้น

นำไปสู่การลงทุน การใช้จ่าย และการนำรายได้เข้าประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนต่ำ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

“มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจนี้ คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวม 210 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ได้สำเร็จ” น.ส.รัชดากล่าว

น.ส.รัชดากล่าวว่า ฉบับที่สอง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ.. … มีสาระสำคัญเป็นขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน ที่บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร

โดย 1)ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินที่บริจาคให้แก่โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะและเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ 2)เพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา (จากเดิมที่ไม่ให้สิทธิบุคคลธรรมดา)

น.ส.รัชดากล่าวว่า โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึ่งประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนการบริจาคเงินให้แก่กรมป่าไม้ เพื่อสนับสนุนโครงการภาคสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของ ทส. เท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 (จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565) เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนให้มีจำนวนมากขึ้น เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

“มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนนี้ คาดว่าจะมีป่าชุมชนได้รับการสนับสนุน 10,246 แห่ง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวม 184 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการสนับสนุนป่าชุมชน อันเป็นการเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของป่าชุมชนในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนอย่างยั่งยืน” น.ส.รัชดากล่าว