แฮกเกอร์ 9near ยุติปล่อยข้อมูลเหตุขัดแย้งสปอนเซอร์ ด้านชัยวุฒิสั่งเร่งหาหลักฐาน

แฮกดกอร์ 9near ยกเลิกขายข้อมูลแล้วเหตุขัดแย้งสปอนเซอร์

ยูทูบเบอร์ไอทีชื่อดังเปิดแชตคุยกับ 9near เผยยุติแล้วเหตุมีประเด็นขัดแย้งกับสปอนเซอร์ ด้านชัยวุฒิสั่งกำชับดูแลผู้เสียหายและเร่งใช้ Digital ID  

วันที่ 3 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีมีแฮกเกอร์รายหนึ่งที่ใช้ชื่อ “9near” อ้างว่าสามารถแฮกข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยได้จำนวน 55 ล้านราย บนเว็บไซต์ Bleach Forums โดยอ้างว่าได้มาจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งของประเทศไทย และโพสต์ตัวอย่างไฟล์ซึ่งมีชื่อ นามสกุล ที่อยู่ วันเกิด เบอร์โทรศัพท์ และเลขประจําตัวประชาชน รวมทั้งมีการโพสต์ลักษณะข่มขู่หน่วยงานและประชาชนในวงกว้าง

ต่อมา เฟซบุ๊กนายอาร์ม ยูทูบเบอร์ด้านไอทีชื่อดัง โพสต์ภาพโดยระบุว่าแฮกเกอร์รายดังกล่าวที่อ้างว่าสามารถแฮกข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยได้จำนวน 55 ล้านราย ได้ยุติการปล่อยข้อมูลแล้ว เพราะยังคุยกันสปอนเซอร์ไม่ลงตัว ทั้งนี้ 9near ได้ยืนยันว่าจะไม่มีการปล่อยข้อมูลแน่นอน ถ้าไม่ถูกจับ ถือว่าเป็นคนละครึ่งทาง เพราะการกระทำดังกล่าวตนก็สร้างความตระหนักให้แก่สังคมได้

ภาพจากเฟซบุ๊กนายอาร์ม

ดีอีเอสกำชับดูแลผู้เสียหายและเร่งใช้ Digital ID

ล่าสุด วันนี้ (3 เมษายน 2566) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณี ผู้ใช้งานบัญชี “9near” ที่อ้างว่ามีข้อมูลส่วนตัวของคนไทยกว่า 55 ล้านราย บนเว็บไซต์ Bleach Forums นอกเหนือจากที่เร่งหาหลักฐานและตัวคนร้ายแล้ว ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเร่งหาข้อเท็จจริง ดูแลผู้เสียหายจาก 9near ตลอดจนเร่งรัดการใช้ Digital ID และยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

โดยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยังได้เป็นประธานการประชุม “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานรัฐ” โดยได้เชิญหน่วยงานรัฐที่มีข้อมูลส่วนบุคคลขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมากหารือ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน กกต. เป็นต้น

รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ในการประชุม โดยมีการ หารือประเด็นสำคัญดังนี้

1.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรวมทั้งฐานข้อมูลของหน่วยงานเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือไม่ มีการตรวจสอบเพื่อป้องกันและแก้ไขช่องโหว่ของระบบที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

โดยนายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้รายงานในที่ประชุมว่า “จากการสุ่มตรวจของ สคส. ได้พบการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสมของหน่วยงานของรัฐ และได้ทำการแจ้งเตือนไปแล้ว ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือปรับปรุงตามคำแนะนำ”

ขณะที่พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า “THAICERT ของ สกมช. ตรวจพบว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานถูกโจมตี และยังมีการหลุดรั่วของข้อมูล ซึ่งได้ประสานงาน เร่งแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาอย่างต่อเนื่อง”

2.แนวปฏิบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลในหน่วยงานของรัฐ อาทิ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

รวมทั้งประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 และประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ หากหน่วยงานทำข้อมูลรั่ว โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ต้องรีบแจ้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้เสียหาย รวมถึงควรทำการเยียวยาผู้เสียหายด้วย

3.การช่วยเหลือสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลฯ ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของหน่วยงาน รวมทั้งแนวทางการทำงานร่วมกันในเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

หนุนใช้ Digital ID เพื่อความปลอดภัยของข้อมูล

นอกจากนี้ ได้หารือถึงแนวทางเร่งรัดการใช้ Digital ID เพื่อช่วยยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของหน่วยงาน ซึ่งในเรื่องนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดทำ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. 2565 (Digital ID) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565

พร้อมกับผลักดันการพัฒนาระบบยืนยันตัวตน National Digital ID ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันข้อมูลรั่วไหล และยืนยันตัวตนได้อย่างมั่นใจมาขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งการยืนยันตัวตนด้วย Digital ID จะช่วยป้องกันการถูกขโมยข้อมูล รวมทั้งการป้องกันการหลอกลวงประชาชนจากการทำธุรกรรมออนไลน์

ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า “วันนี้สรุปได้ว่าการหาข้อเท็จจริงเรื่องที่อ้างว่าข้อมูลขนาดใหญ่รั่วจากหน่วยงานภาครัฐ ยังดำเนินการอยู่ กรณีที่มีข้อมูลรั่ว หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมีช่องโหว่ หน่วยงานต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข ในขณะเดียวกันทำการซักซ้อม แนวปฎิบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงขอความร่วมมือหน่วยงาน ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยข้อมูล และช่วยผลักดันการใช้ Digital ID”