ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปีนี้

dollar money

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

วันที่ 7 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/3) ที่ระดับ 35.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/3) ที่ระดับ 35.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเทียบเงินสกุลหลัก

หลังดัชนีดอลลาร์สหรัฐร่วงลงที่ 103.31 สอดคล้องกับการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ภายหลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐ และความเห็นจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้

อย่างไรก็ดี เฟดยังไม่มีกรอบเวลาชัดเจนสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความคืบหน้าในการควบคุมเงินเฟ้อนั้นยังคงไม่แน่นอน แม้เงินเฟ้อได้ลดลงอย่างมากนับตั้งแต่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีในปี 2565 แต่เฟดก็ยังคงต้องการความเชื่อมั่นมากขึ้นกับการลดลงของเงินเฟ้อก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

โดยคณะกรรมการเฟดมองว่า ยังคงไม่เหมาะสมที่จะปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ในเดือน มิ.ย. และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 4 ครั้งในปีนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐนั้น ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 140,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 111,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค.

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลงสู่ระดับ 8.86 ล้านตำแหน่งในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 8.85 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 8.89 ล้านตำแหน่งในเดือน ธ.ค. ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานลดลงสู่ระดับ 5.7 ล้านตำแหน่งในเดือน ม.ค. จากระดับ 5.8 ล้านตำแหน่งในเดือน ธ.ค.

สำหรับปัจจัยภายในภูมิภาค ยอดส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือน ม.ค.-ก.พ.ขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าการค้าโลกและเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว หลังจากภาวะอ่อนแอที่ยืดเยื้อในภาคารผลิตได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนในเดือน ม.ค.-ก.พ.ปรับตัวขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 1.9%

ขณะเดียวกันยอดนำเข้าปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือน ม.ค.-ก.พ. เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 1.5% โดยยอดส่งออกของจีนในเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 2.5% โดยปรับตัวขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้นมาก เนื่องจากได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวตามวัฏจักรของอุปสงค์เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.55-35.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.58/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/3) ที่ระดับ 1.09000/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/3) ที่ระดับ 1.0875/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ออกแถลงการณ์โดยในวันนี้ (7/3) ตลาดจับตาธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย

ซึ่งคาดการณ์ว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมที่ 4.50% โดยเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การผลิตและบริการยังซบเซา โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0886-1.0907 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0892/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/3) ที่ระดับ 148.60/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/3) ที่ 149.71/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานญี่ปุ่นลดลงในเดือน ม.ค. เป็นเดือนที่ 22 ติดต่อกัน แต่ลดลงในอัตราที่ชะลอตัวที่สุดในรอบกว่าหนึ่งปี เนื่องจากแรงกดดันด้านราคาลดลง

โดยแนวโน้มค่าจ้างของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จับตามองเพื่อประเมินแนวโน้มค่าจ้างและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ แสดงความหวังว่า แม้ว่าค่าจ้างที่แท้จริงจะยังไม่เป็นบวกในทันที

แต่การเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้างระหว่างแรงงานและผู้บริหารธุรกิจในปีนี้จะให้ผลลัพธ์ที่ดีซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการบริโภค ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.78-148.39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.91/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (7/3), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน ม.ค.สหรัฐ (7/3), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.พ.สหรัฐ (8/3) และอัตราว่างงานเดือน ก.พ.สหรัฐ (8/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือน ในประเทศอยู่ที่ -9.00/-8.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.20/-8.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ