ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังบรรลุข้อตกลง USMCA

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 ตุลาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/10) ที่ระดับ 32.30/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (1/10) ที่ระดับ 32.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรับ ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการประกาศข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดาในวันอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยรักษาเขตการค้าเปิดขนาด 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ไว้ต่อไป หลังจากที่เขตการค้าดังกล่าวที่มีการจัดตั้งมาได้นาน 25 ปีเกือบจะล่มสลายลง โดยที่แคนาดาและเม็กซิโกยอมรับการค้าที่มีข้อจำกัดมากขึ้นในข้อตกลงสหรับ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกมีความยากลำบากมากขึ้นที่จะผลิตรถราคาถูกในเม็กซิโก และตั้งเป้าที่จะเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐ โดยการบรรลุข้อตกลงการค้าอเมริกาเหนือช่วยลดความกังวลเรื่องการค้า และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเทขายพันธบัตรเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตลดลงเกินคาดสู่ระดับ 59.8 ในเดือน ก.ย. โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.30-32.38 บาท/ดอลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/10) ที่ระดับ 1.1574/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/10) ที่ระดับ 1.1615/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงกกดดันจากความกังวลเรื่องยอดขาดดุลงบประมาณของอิตาลี นายลุยจิ ดิ ไมโอ รองนายกรัฐมนตรีของอิตาลีได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (อียู) เกี่ยวกับการสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินอย่างจงใจด้วยการแสดงความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับแผนงบประมาณของอิตาลี โดยนายดิ ไมโอกล่าวโจมตีนายปิแอร์ มอสโกวิซี กรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรป โดยนายมอสโกวิซีเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า แผนการของรัฐบาลอิตาลีเบี่ยงเบนออกไปจากกฎเกณฑ์เรื่องวินัยการคลังของอียูอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้สำนักงานสถิติยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า อัตราว่างงานในยูโรโซนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปีในเดือน ส.ค. โดยลดลงอย่างมากในอิตาลี ทั้งนี้อัตราว่างงานใน 19 ประเทศที่ใช้เงินยูโรลดลงสู่ 8.1% ในเดือน ส.ค. จาก 8.2% ในเดือน ก.ค. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตขั้นปลายของไอเอชเอสมาร์กิต ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ 53.2 ในเดือน ก.ย. จาก 54.6 ในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1522-1.1580 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1525/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/10) ที่ระดับ 113.97/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อจันทร์ (1/10) ที่ 113.99/00 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐอาจไม่สามารถเจรจาการค้ากับญี่ปุ่นได้เป็นผลสำเร็จ หากสหรัฐไม่ได้ขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากญี่ปุ่น โดยเขากล่าวหลังจากที่ได้พบปะกับนายชินโซ อาเบชะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งได้ตกลงที่จะเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการอ่อนข้อจากญี่ปุ่นซึ่งก่อนหน้านี้มีจุดยืนในการใช้แนวทางระดับพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาการค้า โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.66-114.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ โดยภาคเอกชน (3/10) ดัชนีการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคอุตสาหกรรมโดย ISM (3/0) แถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (4/10) การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ (5/10) อัตราการว่างงานของสหรัฐ (5/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.20/-3.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.75/-3.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ