“คลังอุดรธานี” คาดปี’62 เกษตร-อุตฯ-บริการดันศก.โต 3.2% เล็งขึ้นฮับการบินอีสานบน

คลังจังหวัดอุดรธานีชี้เศรษฐกิจปี 2562 โต 3.2% ปัจจัยบวกมาจากเกษตร-อุตสาหกรรม-ภาคบริการ เสริมทัพด้วยสนามบินที่มีเที่ยวบินมากที่สุดในอีสาน และเตรียมสู่การเป็นฮับการบินอีสานตอนบน

นางสุภาวดี สิทธิมาลัยรัตน์ คลังจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี ปี 2561 ณ ไตรมาส 4/2561 คาดมีการขยายตัว 2.8% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 4.2% ตามปริมาณผลผลิตข้าวนาปี อ้อยโรงงาน และยางพาราที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.4% ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงปัจจัยจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว 5.9% ตามกรอบรายจ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจยังจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2562 ที่ 3.2%

แต่ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนมีการชะลอตัว 2.1% ตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว 2.5% ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลง และภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี และภาคบริการชะลอตัว 3% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ยังชะลอตัว ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ 0.8% เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การจ้างงาน 2.4% ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดที่ปรับตัวดีขึ้น

อนึ่ง สำนักงานคลังจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับคณะผู้บริหารการคลังจังหวัดอุดรธานี ได้รายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี ปี 2561 และ 2562 โดยประเมินสภาวะเศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี ปี 2562 ว่าจะขยายตัว 3.2% โดยแยกเป็นด้านอุปทาน คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัว 3.3% เช่น ภาคเกษตรกรรม
ขยายตัว 4.4% ที่เกิดจากปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจ และปศุสัตว์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.8% ภาคบริการ 3.2% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัว และมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ

ขณะที่ด้านอุปสงค์ มีแนวโน้มขยายตัว 3.5% ซึ่งมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 3% และการใช้จ่ายของภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 6.7% และคาดว่าในจังหวัดอุดรธานีจะมีการจ้างงานทั้งหมด ประมาณ 610,692 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 16,212 คน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% ต่อปี มาจากแนวโน้มความต้องการและราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนในการประกอบการที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากหนี้เสีย (NPL) มีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งความผันผวนของสภาพอากาศที่อาจจะส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานีมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับจังหวัดหนองคาย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ส่งผลให้ชาว สปป.ลาว นิยมเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในจังหวัดอุดรธานี ทำให้มีเงินหมุนเวียนสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงการที่มีสนามบินที่สามารถรองรับผู้โดยสาร และมีจำนวนเที่ยวบินมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเตรียมก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางการบินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่เชื่อมโยงสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

รวมถึงมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ เช่น มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการรักษาระดับราคาพืชผลทางการเกษตร มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร และการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้มีรายได้น้อย