เอ็กโก กรุ๊ป สร้างเครือข่ายดูแลแหล่งต้นน้ำ

หนึ่งในแนวทางการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือซีเอสอาร์นั้น องค์กรส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ทำธุรกิจเป็นสำคัญ แต่สำหรับ “เอ็กโก กรุ๊ป” นอกจากแนวทางดังกล่าวแล้ว ยังมองครอบคลุมถึงพื้นที่อื่น ๆ เพิ่ม เพียงแต่ยังอยู่ในขอบข่ายกับการดำเนินงานของบริษัท”

ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจพลังงาน ไม่ว่าจะไปตั้งโรงไฟฟ้าที่ไหนก็ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงตระหนักและมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูและดูแลธรรมชาติให้ดีที่สุด ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับป่าต้นน้ำ เพราะเป็นหัวใจของธรรมชาติ และการอุปโภคบริโภคของประชาชน”

“ชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย” กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องซีเอสอาร์ อันเป็นแนวทางที่มีมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทว่า มุ่งเน้นการทำงานเชื่อมโยงกันใน 3 ด้าน คือ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่าง การจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งถูกขับเคลื่อนผ่านมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2551 โดยร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกมณฑาธาร อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ขณะเดียวกันมีการส่งเสริมให้ชาวเขาในพื้นที่เป็นมัคคุเทศก์ให้คำแนะนำนักท่องเที่ยว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เอื้อให้เกิดระบบของการดูแลและอนุรักษ์ป่าร่วมกัน

“หลังจากโครงการที่ภาคเหนือประสบความสำเร็จ ก็มาดูว่ามีพื้นที่ไหนของประเทศไทยที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ จนมาเจอว่าภาคใต้มีเขาหลวง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี จึงร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาหลวงพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกพรหมโลก น้ำตกกะโรม และน้ำตกอ้ายเขียว แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้รับความนิยม และนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้ง่าย”

โดยมีการปรับปรุงเส้นทางเดินให้มีความปลอดภัย จัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติตลอดเส้นทาง และก่อสร้างอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พร้อมจัดทำแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ข้อมูลพืชพรรณไม้ที่สำคัญ และระบบนิเวศของเส้นทางทั้ง 3 แห่ง ซึ่งได้พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติเสร็จสิ้นไปเมื่อปี 2559

“เป้าหมายคือเราอยากให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคน โดยเฉพาะเยาวชน เพื่อให้เขาเข้าใจและเข้าถึงธรรมชาติ พร้อมกับช่วยกันดูแลผืนป่าต้นน้ำ เพราะหน่วยงานราชการคงไม่สามารถดูแลต้นน้ำลำธารฝ่ายเดียวได้ ต้องอาศัยคนในชุมชน และนักท่องเที่ยวได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย”

ขณะเดียวกันได้ต่อยอดความร่วมมือโครงการดังกล่าว โดยกำหนดกรอบการทำงานระหว่างปี 2560-2564 จะพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นอีกแห่งเส้นทางหนึ่ง พร้อมทั้งพัฒนาเครือข่ายชุมชนและเยาวชน เพื่อร่วมอนุรักษ์ผืนป่าเขาหลวง โดยมีแนวทางดำเนินงานหลัก 5 ข้อ ได้แก่

1) การสื่อความหมายธรรมชาติ 2) การสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 3) การสนับสนุนงานสำรวจ วิจัย และส่งเสริมบุคลากร เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 4) การสร้างเครือข่ายชุมชนและเยาวชน และ 5) การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ และชุมชนในพื้นที่

“ชนินทร์” บอกว่า นอกจากภาคใต้แล้ว มีแผนจะขยายโครงการไปยังจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเข้าไปเก็บข้อมูล โดยจะร่วมกับ “พระไพศาล วิสาโล” จัดทำเครือข่ายดูแลพิทักษ์ป่า เพราะป่าบริเวณนั้นถูกเผาและทำลายมาตลอด แผนงานใหม่นี้ถือว่าเป็นไปตามแผนการดำเนินงานของเอ็กโก กรุ๊ป ที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำในแต่ละภูมิภาคของประเทศ และทุก ๆ ที่ที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าเข้าไปดูแล ก็จะมีการส่งเสริมให้เกิดแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนด้วย

“เรามีการจัดค่ายเยาวชนที่ดอยอินทนนท์ทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง โดยรับเยาวชนจากทั่วประเทศประมาณ 70 คนต่อรุ่น ให้เด็กได้เข้ามาเรียนรู้การอยู่กับป่า 5-7 วัน ผ่านการสอดแทรกองค์ความรู้ด้านระบบนิเวศ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับไปขยายผลกับการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ของตัวเองได้ด้วย”

เป็นการผสมผสานทุกแนวทางการทำงานเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อม และป่าต้นน้ำของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน