โควิดถล่มไก่เนื้อทะลักตลาด หวั่นส่งออกวืดเป้า 9 แสนตัน

หวั่นส่งออกไก่ปีนี้วืดเป้าไปไม่ถึง 950,000 ตัน หลังโรงเชือดยักษ์ใหญ่ถูกโควิด-19 ถล่ม คนงานติดเชื้อระนาว ส่งผล 8 โรงงานส่งออกเฉพาะเดือนสิงหาคมยอดส่งออกหด 20% ต้องนำไก่ไปเก็บไว้จนล้นห้องเย็นทั่วประเทศ กระทบไปถึงฟาร์ม-เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย ราคาเนื้อไก่ยันโครงไก่ดิ่งลงเหว ซ้ำถูกรายใหญ่เทขายไก่ดัมพ์ราคาหนีตาย จนราคาขายเหลือ กก. 20-24 บาท สวนทางต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งพรวด

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า การส่งออกไก่ในปีนี้จะลดลงและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 950,000-960,000 ตันแน่ เนื่องจากโรงงานผลิตและส่งออกไก่ 8-9 โรงงาน ต่างประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ทำให้ต้องหยุดการผลิตเพื่อทำความสะอาดโรงงานตามที่แต่ละพื้นที่กำหนด ประกอบกับยังเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลังจากที่ต้องปิดโรงงานไปชั่วคราว มีแรงงานบางส่วนยังไม่กลับเข้ามาทำงาน

จนทำให้ยอดส่งออกเนื้อไก่เฉพาะเดือนสิงหาคมเดือนเดียวมีปริมาณลดลงถึง 20% (มูลค่าลดลง 2.38%) แม้ว่าจะมียอดส่งออกสะสมในช่วง 7 เดือนแรกขยายตัว 2% “แต่สถานการณ์ก็ยังน่าห่วง ต้องรอดูว่าในเดือนกันยายน โรงงานจะฟื้นกลับมาผลิตได้หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม เมื่อโรงงานไม่สามารถเปิดการผลิตได้ตามปกติก็จะส่งผลไปยังการเลี้ยงไก่เนื้อด้วย ทำให้ฟาร์มและผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเลี้ยงไก่ “รอไว้ก่อน” ส่งผลให้ไก่เนื้อมีขนาดใหญ่น้ำหนัก 3-4 กก.หรือตัวเกินกว่ามาตรฐานส่งออกที่ปกติจะใช้ไก่น้ำหนัก 2.6-2.7 กิโลกรัม

ส่วนการปรับเปลี่ยนไก่ไซซ์ใหญ่ไปชำแหละเป็นชิ้นส่งออกตลาดที่นิยมไก่ special cut อย่างตลาดญี่ปุ่นนั้นก็ไม่สามารถทำได้ เพราะโรงงานส่วนใหญ่ไม่มีแรงงานที่เชี่ยวชาญการตัดแต่งไซซ์นี้

“เมื่อส่งออกไม่ได้ก็ต้องหันมาเชือดและชำแหละขายในประเทศแทน ผลคือไม่มีที่เก็บเพียงพอ ทำให้ไก่ล้นต้องไปเช่าห้องเย็นเก็บไก่แทน และตอนนี้ห้องเย็นก็เกือบเต็มอีกแล้ว เมื่อไก่ไปไหนไม่ได้ต้องมาขายในประเทศ ราคาขายในประเทศก็ลดลงเหลือ กก.ละ 20 บาท จากปกติ 31-32 บาท และมีแนวโน้มราคาจะลดลงต่อเนื่องในช่วงเทศกาลกินเจ

ซึ่งไม่เพียงแต่ราคาตกต่ำเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการเลี้ยงยังขยับสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น มาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดปรับขึ้น กก.ละ 11 บาท จากปีก่อน 8-9 บาท ราคากากถั่วเหลือง 18-19 บาท จากเดิมที่ราคา กก.ละ 14 บาท และจากการที่จีนมีการเพิ่มการเลี้ยงไก่และหมูมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้อาหารสัตว์มากขึ้น ด้านประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างสหรัฐก็ประสบปัญหาภัยแล้ง” นายคึกฤทธิ์กล่าว

ล่าสุดทางสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยได้ประสานขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในส่วนแรก คือ การขาดแคลนแรงงาน ด้วยการจัดหาแรงงาน MOU นำเข้า แต่ติดปัญหาตรงที่แต่ละประเทศก็มีการระบาดโควิด-19 เหมือนกันอีก

“ทั้ง ๆ ที่เรามีตลาดที่ต้องการนำเข้าเนื้อไก่เพื่อนำไปใช้ช่วงปลายปี แต่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตเพื่อการส่งออกได้เพียงพอและในอนาคตน่าห่วงว่าไม่เพียงเรื่องเหล่านี้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าเฟรท ต้นทุนอาหารสัตว์

ดังนั้น โรงงานไก่ไทยอาจจะต้องปรับลดกำลังการผลิตลง เพื่อให้กลับสู่ภาวะสมดุลพอกับแรงงานที่มีอยู่ ทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะเสียตลาดระยะยาวให้กับคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือบราซิล ซ้ำรอยเมื่อครั้งที่เคยเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดนกในประเทศ” นายคึกฤทธิ์กล่าว

ผู้เลี้ยงไก่ขาดทุนทั่วหน้า

แหล่งข่าวจากวงการไก่กล่าวว่า ภาพรวมการผลิตไก่ลดลง 20-30% และยังมีไก่ที่มีอายุเกินกว่าปกติกว่า 40 วันขึ้นไปเกิดขึ้นด้วย ส่งผลกระทบต่อราคาขายไก่ทั้งไก่เป็นและไก่สด ณ หน้าโรงงานลดลงโดยล่าสุดผู้เลี้ยงไก่เนื้อประสบการขาดทุนไปแล้วตก กก.ละ 5-6 บาท จากที่ปัจจุบันราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม กก.ละ 25 บาท ขณะที่ชิ้นส่วนไก่หน้าโรงงาน กก.ละ 27-28 บาท หรือ “ต่ำกว่า” ต้นทุนการเลี้ยงไก่เนื้อมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ กก.ละประมาณ 31 บาท

ซึ่งมีต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนไก่สดหน้าโรงงานเฉลี่ยค่าใช้จ่าย กก.ละ 3-5 บาท แตกต่างกันตามความสามารถในการผลิตและปริมาณการผลิต ในแต่ละวันไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการผลิตเพื่อส่งออก และที่สำคัญก็คือ ราคาอาหารสัตว์สำเร็จรูปปรับขึ้นทุก ๆ 2-3 วัน เนื่องมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพด เป็นปัจจัยกดดันด้านต้นทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“หากแนวโน้มราคาชิ้นส่วนไก่สดยังไม่สามารถปรับราคาขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตก็จะส่งผลกระทบในอนาคตในเรื่องจำนวนไก่ที่น้อยลงเพราะทนขาดทุนกันไม่ไหว นอกจากนี้ยังมีทั้งปัจจัยไก่โอเวอร์ไซซ์ ฝนตก และเทศกาลกินเจ รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดหายไปอย่างน่าตกใจจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลางคงต้องปรับตัวเลี้ยงไก่น้อยลง และอาจต้องพักระยะการเลี้ยงไปยาวจนกว่าสถานการณ์ COVID จะมีทิศทางที่แจ่มใส ยังไม่มีใครฟันธงได้ 100% ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า” ผู้เลี้ยงไก่รายหนึ่งกล่าว

และยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับผู้ผลิตไก่รายใหญ่ก็ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ เพราะมีไก่โอเวอร์ไซซ์-ไก่อายุเกินมาตรฐานส่งออกกดดันอยู่ ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเชือดและการกลับมาของคนงานของแต่ละโรงงาน อันเนื่องมาจากปัญหาการหยุดผลิตเมื่อ 1-2 เดือน จากการปิดโรงงานอันเนื่องมาจากโควิด-19 ระบาดในกลุ่มคนงาน แต่ก็ยังมีความหวังอยู่บ้างว่า ถ้าหลังกินเจช่วง 5-13 ตุลาคม 2564 ไปแล้ว ราคาไก่อาจจะดีขึ้น ถ้าราคายังไม่ขึ้น “ปีนี้ก็จบข่าว ปิดบัญชีขาดทุนแน่นอน”

เช่นเดียวกับในส่วนของราคาลูกไก่ในสัปดาห์หน้าก็ยังไม่เคลื่อนไหวอยู่ที่ 5.50 บาท ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนการผลิตลูกไก่ตัวละประมาณ 10-11 บาท ดังนั้น ผู้ผลิตลูกไก่เองก็ต้องไปประเมินตัวเองว่า จะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเชือดในวันนี้ “ตอนนี้โรงเชือดไก่ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งขาดทุนเยอะ วันนี้สู้กันด้วยใครมีสายป่านของเงินทุนมากกว่ากัน ส่วนที่ว่า low cost low loss นั้น ตอนนี้ไม่เพียงพอในการทำธุรกิจ ต้องมีลองเทอม มีเงินเข้ามาช่วยด้วย”

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าวันนี้ ราคาไก่ในตลาด แบ่งเป็น 2 ขนาด คือ 1) น้ำหนักประมาณ 2.5-2.8 กิโลกรัม เป็นไซซ์ปกติ ราคาขาย กก.ละ 25-26 บาท กับ 2) น้ำหนักไก่ 3.5 กิโลกรัมขึ้นไป ราคา กก.ละ 15-17 บาท โดยไก่ที่มีขนาดตั้งแต่ 3.5 กก.ขึ้นไป ยังเหลืออยู่ประมาณ 10-15% ของภาพรวมไก่เนื้อทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นตัว “กดดัน” ไก่หน้าโรงงานไม่ให้ราคาเคลื่อนไหวแรงได้ ทำให้การส่งออกช่วงนี้ทำได้ไม่เต็มที่ อีกทั้ง ตลาดจีนวันนี้ยังรอการตรวจสอบรับรองโรงงานอีก 8 โรงงาน และยังมีปัญหาแรงงานมาเพิ่มด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งภาพรวมการส่งออกสินค้าไก่ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 66,974 ล้านบาท หรือลดลง 2.85% จากปีก่อนหน้า โดยตลาดใหญ่ 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 35,452 ล้านบาท ลดลง 1.06%, สหราชอาณาจักร มูลค่า 9,942 ล้านบาท ลดลง 10.52%, จีน 6,718 ล้านบาท ลดลง 13.17%, เนเธอร์แลนด์ 2,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.18% และเกาหลีใต้ 2,853 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.26%

เก็บจนไก่ล้นห้องเย็น

มีรายงานข่าวจากห้องเย็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ในโรงเชือดของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านปศุสัตว์ของประเทศหลายบริษัท จนทำให้ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว การขาดแคลนแรงงานได้ส่งผลกระทบให้ไก่ที่เชือดแล้วต้องถูกนำเข้าไปเก็บใน “ห้องเย็น” เป็นจำนวนหลายล้านตัว จนล้นห้องเย็นของโรงเชือดเองก็ล้นและต้องไปเช่าห้องเย็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ในหลายจังหวัดเก็บไก่เพิ่มเติมนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน “ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณไก่ที่จะต้องเก็บ”

ขณะเดียวกันไก่ที่ถึงกำหนดเข้าโรงเชือดที่น้ำหนักขนาด 1.8-2 กก. ก็ถูกสั่งให้เลี้ยงต่อไปจนกลายเป็นไก่ไซซ์ขนาด 2.8-3.5-4 กก. เพราะไม่มีห้องเย็นให้เก็บ ส่งผลกระทบให้ผู้เลี้ยงไก่ประกันขาดทุนกันอย่างหนักถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงอิสระที่ผลิตไก่เพื่อขายตลาดภายในประเทศได้รับผลกระทบจากมีไก่เนื้อบางส่วนของบริษัทส่งออกถูกส่งเข้ามาขาย “ดัมพ์ราคาตลาดภายในประเทศ” ทำให้ราคาเนื้อไก่ เครื่องใน และโครงไก่ ราคาดิ่งลงอย่างมาก

“ราคาไก่มีชีวิตตลาดภายในประเทศไซซ์ 2.6-2.7 กก. ราคากิโลกรัมละ 30 บาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันราคาเหลือ 24 บาท/กก. ขณะที่ไก่ขนาด 3.5-4 กก.ต่อตัว ราคาเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 12 บาท/กก. ปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ราคา 15-16 บาทต่อ กก. ด้านราคาโครงไก่จากที่ขาย 18 บาทต่อ กก. ปัจจุบันขายทิ้งเข้าเป็นอาหารปลาที่ 3-4 บาทต่อ กก.เท่านั้น ขณะที่ภาพรวมเฉลี่ยต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 33-35 บาทต่อ กก.”

ตอนนี้ภาพรวมปริมาณการเลี้ยงไก่เนื้อทั้งประเทศก่อนเกิดโควิด-19 มีประมาณ 34 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 27 ล้านตัวต่อสัปดาห์ โดยราคาไก่เนื้อที่ลดลงยังส่งผลกระทบไปถึงไก่ไข่ 18 เดือนที่ถึงกำหนดปลดระวาง เพราะไข่ลดน้อยลงที่จะต้องถูกขายเป็นไก่เนื้อก็ไม่สามารถขายออกมาได้ ต้องปล่อยยืนกรงต่อ เพราะราคาขายถูกกดลงอย่างมาก บางฟาร์มต้องยอมยืดอายุการเลี้ยงต่อไปอีก ในภาพรวมปัญหาผู้เลี้ยงขาดทุนจะส่งผลกระทบไปถึงสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ในธุรกิจนี้ด้วย