อภิปรายทั่วไป : 2565 ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน – โรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ

ประยุทธ์ ลั่น 2565 ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน ส่งทีมพี่เลี้ยง เคาะประตูบ้าน แก้จนรายครอบครัว จ่อ โรดโชว์ดึงดูดนักลงทุน 5 อุตสาหกรรม S-curve ไตรมาสสอง-ไตรมาสสาม หลังโควิด-19 คลี่คลาย

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่รัฐสภา มีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ชี้แจงว่า การแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายอยู่ในกระบวนการที่จะนำผลการพิจารณาร่างสัญญาลงทุนมาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาระทางการคลังในอนาคตต่อไปด้วย ไม่ได้มุ่งหมายเอื้อประโยชน์กับใคร หรือ ต้องการจะทิ้งทวนอย่างที่มีผู้อภิปราย

ส่วนการแก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะลดหนี้ภาครัวเรือน และปัญหาที่ดิน หลายท่านพูดว่า นายกรัฐมนตรีไม่เคยลำบาก ไม่เคยเป็นหนี้ ผมเคยลำบากมาเหมือนกัน ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เติบโตเหมือนคนทั่วไป เคยเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยแลกเงินเดือน เหมือนมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งเหมือนกัน อยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ซึ่งมีค่าตอบแทนไม่มากนัก ผมเข้าใจว่า ความยากลำบากเป็นอย่างไร

“ตนได้เตรียมแผนการระยะปานกลาง ระยะยาวไว้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา แม้เป็นงานที่ยาก แต่ผมทิ้งไม่ได้ เพราะนี่คือประชาชนของเรา โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 จะมาบอกว่า รัฐบาลไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ถูกต้องมากนัก”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อ รัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งมีต้นต่ออยู่ 8 เรื่อง เช่น หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ หนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะครู ตำรวจ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื้อส่วนบุคคล การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรายย่อยและเอสเอ็มอี การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมเพื่อแก้ไขหนี้สิน

โดยการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้า ตัดเสื้อให้พอดีตัว ระดับปฏิบัติตั้งทีมพี่เลี้ยงเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนความยากจนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้ตรงกับในแต่ละครอบครัว เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การติดตามผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มิติความเป็นอยู่ เช่น ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การศึกษา ฝึกอาชีพ เพิ่มรายได้ มิติรายได้ เช่น จัดหาที่ดินทำกิน วิสาหกิจชุมชน

สำหรับแผนงานในอนาคต ภาพเศรษฐกิจ พยายามหารายได้ใหม่ ๆ สร้างงานใหม่ ๆ ให้กับประชาชน ประเทศไทยต้องมีการลงทุน เตรียมความพร้อมที่จะเติบโตไปกับเศรษฐกิจใหม่ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่

1.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

2.การลดปริมาณคาร์บอน

3.การค้าและการลงทุน เป็นโอกาสของไทยที่จะดึงดูดการลงทุน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี

4.การพัฒนาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการแพทย์ ยาและวัคซีน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 5 โอกาสจากอุตสาหกรรมใหม่เป้าหมาย (S-curve) ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 2.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจะได้รับทราบข่าวดีเร็ว ๆ นี้ 4.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ 5.อุตสาหกรรมยา

“อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ไทยต้องการเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก โดยมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30 % ในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573 โดยที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน 3.6 แสนล้านบาท และเพิ่มจีดีพี 1.2 แสนล้านบาทใน 10 ปี”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สามารถดึงดูดนักลงทุนระดับโลก เช่น FOXCONN โดยร่วมลงทุนกับบริษัทปตท. ในธุรกิจรับจ้างผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ขนาดลงทุน 3-6 หมื่นล้านบาท และ Arcelik Hitachi ซึ่งจะมาตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในประเทศไทย

โดยจะเดินสายต่างประเทศ โรดโชว์เพื่อดึงดูดนักลงทุนในประเทศไทยช่วงไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สาม ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เช่น นักลงทุนจากประเทศเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน อินเดีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา

พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางโรดแมปความร่วมมือระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในด้านต่าง ๆ เช่น การส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย ความต้องการแรงงานประเภทต่าง ๆ ตามความต้องการของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะมีการลงนามข้อตกลงระหว่างกัน

“สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานี้ เมื่อเกิดก็ต้องแก้ไข ต้องหาวิธีที่ดีที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชน เพราะฉะนั้นจะพูดอะไรกันออกมาก็กรุณาระวังสักนิด อย่างน้อยให้เกียรติซึ่งกันและกันบ้าง อย่าพูดในทำนองดูถูก เยียดหยาม ซึ่งผมพยายามอดทนอดกลั้นเต็มที่แล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับท่านว่าจะเป็นอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ทิ้งท้าย