มองหน้าเหลียวหลังช่วงปีใหม่ ธุรกิจ “ยานยนต์ไทย”

ภาพจาก : www.autoworldthailand.com

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย โกญจนาท เถื่อนมูลแสน นักวิเคราะห์อาวุโส Economic Intelligence Center

ช่วงวันหยุดปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ทำให้เราได้นั่งย้อนคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมา และคิดเล่น ๆ ไปข้างหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้างในอนาคต และในปีที่ผ่านมามีหลายอย่างที่เกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจยานยนต์ที่เราอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง

เริ่มจากสภาพตลาดรถในประเทศ เริ่มมองเห็นการส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว จนชัดเจนได้ว่าเป็นช่วงขาขึ้นจริง ๆ เห็นได้จากยอดขายเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลัง 12 เดือนที่พุ่งทะยานมาถึง 70,000 คันเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นระดับที่ค่อนข้างโล่งใจได้เลยทีเดียวสำหรับธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ จากที่ต้องทนกับสภาพตลาดที่ซบเซามาเป็นเวลายาวนานกว่าสองปีครึ่ง

อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มที่ดีนี้น่าจะดำเนินไปได้เรื่อย ๆ ตลอดปี 2018 โดยช่วงเดือนไฮไลต์ที่อยากให้จับตาดูกันไว้ให้ดี คือในช่วงเดือนมีนาคม ว่าตัวเลขยอดขายเฉลี่ยนั้นจะทำ new high ถึง 90,000 คัน ได้จริงหรือไม่ นับว่าถ้าไปถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าตลาดรถยนต์ในประเทศได้ฟื้นตัวกลับมาแล้วอย่างสมบูรณ์

นอกจากนั้นยังเห็นการเปลี่ยนแปลงในมุมของส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ในประเทศ ทั้งกลุ่มตลาดรถยนต์นั่งและรถกระบะ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่ง จากเดิมส่วนแบ่งการตลาดที่ 3 ผู้เล่นรายใหญ่เคยครองอยู่นั้นรวมกันเกือบ 80% แต่ล่าสุดตกลงมาเหลือเพียง 70% พร้อมกับเห็นการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งผู้เล่นเบอร์นำ และเบอร์รอง พลิกกันไปมา

สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ดุเดือดรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปี 2018 นี้คงเป็นอีกปีที่ผู้เล่นเบอร์นำคงต้องทำการบ้านอย่างหนักหน่วงและเตรียมหาวิธีปรับตัวเพื่อดึงเอาส่วนแบ่งนี้กลับคืนมาให้ได้ ในขณะเดียวกันผู้เล่นเบอร์รองต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการรักษาคุณภาพของการบริการหลังการขาย เพื่อรักษาฐานลูกค้านี้ให้ได้ต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของความสามารถในการผลิตรถในไทยนั้น ปัจจุบันรวมแล้วมากกว่า 3 ล้านคันต่อปี ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการส่งเสริมการผลิตอีโคคาร์ในช่วงก่อน แต่ยังคงได้ใช้จริงเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่ตลาดในประเทศซบเซา ผู้ประกอบรถยนต์จึงหันไปพึ่งพาการส่งออกมากขึ้น แต่ก็พบว่าการทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากตลาดปลายทางก็เจอพิษวิกฤตเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะในประเทศกลุ่มนี้หายไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน ประกอบกับหลายประเทศก็สามารถผลิตรถยนต์ในประเทศเองได้ และเริ่มส่งออกรถยนต์เป็นคันด้วยเหมือนกัน

ยกตัวอย่าง การเริ่มการประกอบรถยนต์ในฟิลิปปินส์ (หลังจากที่เกิดไปแล้วกับอินโดนีเซียเมื่อหลายปีก่อน) นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ (อีกครั้ง) ที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะต้องคิดอย่างจริงจังเสียที ว่าจะทำอย่างไรกับกำลังการผลิตที่เหลือเกือบล้านคัน ถ้าลองคำนวณง่าย ๆ ดู จะพบว่าหากไม่มีตลาดฟิลิปปินส์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรถยนต์เป็นคันของไทยจะลดฮวบลงทันที

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกจะอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่ในทางตรงกันข้าม ปีที่แล้วเราเห็นการขยายตัวของการส่งออกชิ้นส่วนรวมเครื่องยนต์มีมูลค่ามากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของโรงงานชิ้นส่วนในไทยกับโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในอาเซียนและภูมิภาคอื่น จนไทยเองได้เป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนที่สำคัญให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ที่มีอยู่ทั่วโลกไปแล้ว

โดยมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศใหม่ ๆ คิดเป็นเกือบ 40% เทียบกับ 10% เมื่อ 5 ปีก่อน และปี 2018 นี้น่าจะเป็นปีที่เห็นการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เคยเป็นผู้นำเข้ารถยนต์แต่เปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบรถยนต์ภายในประเทศเอง

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่กลายเป็นประเด็นร้อนในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก คือ รถยนต์ไฟฟ้า หลังจากเป็นที่ถกเถียงกันมาสักระยะหนึ่ง ที่ชัดเจนที่สุดคงไม่พ้นการที่จีน ประเทศที่เป็นทั้งตลาดและฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (มีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก) ประกาศว่าจะบังคับให้สัดส่วนการผลิตและขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบแบตเตอรี่และแบบปลั๊กอินไฮบริด มีไม่น้อยกว่า 10%

การประกาศของจีนครั้งนี้ ประกอบกับกระแสการยกเลิกหรือการจำกัดการขายรถใหม่ที่เป็นเครื่องยนต์ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศขนาดใหญ่อย่างอินเดีย ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกต้องปรับตัวตามไปด้วย นอกจากนี้ล่าสุดผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเจ้าใหญ่ซึ่งเป็นฝ่ายยื้อมาตลอดว่า โลกนี้ยังไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้ออกมาประกาศตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยประกาศจับมือกับผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลกเพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการนี้อย่างเต็มที่

ซึ่งเมื่อค่ายรถญี่ปุ่นเริ่มขยับตัว ไทยเองซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญก็ต้องเดินเกมตามรอยนี้เช่นกัน และเราก็คิดว่าปี 2018 นี้น่าจะเป็นปีที่ได้เห็นกลุ่มบริษัทด้านพลังงานและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยเริ่มขยับตัวกันชัดเจนมากขึ้น ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะในเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ถ้าหากตลาดรถยนต์ในประเทศไม่ได้รับการกระตุ้นให้ขยายขนาดมากกว่านี้อีกสักหน่อย คงเป็นเรื่องยากที่จะมีการลงทุนใหม่ ๆ เข้ามา

นโยบายสนับสนุนคงเป็นประเด็นที่ควรมีการพิจารณากันมากขึ้นในปี 2018 โดยเฉพาะการจัดการกับอายุเฉลี่ยของรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่ง มีอายุมากกว่า 7 ปี และเกิน 1 ใน 5 มีอายุมากกว่า 15 ปี และระดับราคารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่ยังคงสูงอยู่มาก