อะไร ๆ ก็แพงขึ้น

ค่าครองชีพ เศรษฐกิจ
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

เงินเฟ้อประเทศไทยยังทะยานสูงต่อเนื่อง ล่าสุด ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 7.86% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 7.61% โดยเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.15% สูงขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 2.99%

เห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว ไม่น่าแปลกใจเลยที่ประชาชนทั่วไป จะรู้สึกว่า นี่คือยุค “ข้าวยากหมากแพง” เพราะค่าครองชีพต่าง ๆ เพิ่มขึ้นหมด ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ค่าน้ำมัน ราคาอาหาร ฯลฯ

ไม่ขึ้นอยู่อย่างเดียว ก็เงินเดือนนี่แหละ !

เรียกได้ว่า ต้องเผชิญกับมรสุมลูกแล้วลูกเล่า ผลกระทบจากวิกฤตโควิดยังไม่ทันจะดีขึ้น ต้องมาเจอวิกฤตเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงอีก

แล้วการที่เงินเฟ้อสูงแบบนี้ แบงก์ชาติ ก็คงต้องขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ ซึ่งแม้ว่า ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบแรกไปแล้ว จะยังขอให้แบงก์ช่วยตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ได้ แต่ก็คงแค่รอบเดียว หากรอบปลายเดือนกันยายนนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก บรรดาแบงก์ต่าง ๆ ก็คงพาเหรดกันขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อย่างแน่นอน

ภาระของประชาชนก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก

ทว่า…ท่ามกลางความยากลำบาก ก็ยังพอเห็นมีบางบริษัท ที่แสดงความมีน้ำใจออกมา โดยประกาศดูแลพนักงานของตัวเอง ในเรื่องค่าครองชีพ

ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ประกาศช่วยเหลือค่าครองชีพพนักงาน คนละ 4,000 บาท

อีกรายก็ บมจ.ทิพยประกันชีวิต ช่วยค่าครองชีพพนักงาน รายละ 10,000 บาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือรายละ 2,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือน

และล่าสุด กลุ่มธนชาต ที่ออกโปรแกรมช่วยเหลือด้านค่าครองชีพแก่พนักงานระดับปฏิบัติการของบริษัทในเครือรวม 9 บริษัท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือให้รายละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมได้รับคนละ 6,000 บาท

นับเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง และอยากให้หลาย ๆ บริษัททำตาม

จะได้ใจจากพนักงานอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในโลก ทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจบิดเบี้ยว ซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้ว จึงไม่อาจคาดเดาได้ว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเมื่อไหร่ อาจจะเกิดเร็วขึ้น หรืออาจจะเกิดช้ากว่าที่คาด ก็เป็นไปได้หมด

ทางที่ดี ประชาชนอย่างเรา ๆ คงต้องดูแลตัวเองกันด้วย ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่ก่อหนี้เกินตัว เพื่อที่เวลามีวิกฤตเกิดขึ้นอีก จะได้รับมือไหว

เพราะดูแล้ว มรสุมลูกใหม่ ๆ ยังมีโอกาสพัดเข้ามาได้อีกเรื่อย ๆ